โค้ชชิ่งอย่างไรให้พนักงานอยากทำงานเป็นทีม

โค้ชชิ่งอย่างไรให้พนักงานอยากทำงานเป็นทีม

การโค้ชชิ่ง          การทำงานคนเดียวดีอย่างไร? ทำไมพนักงานบางคนจึงชอบที่จะทำงานเพียงคนเดียวมากกว่า นอกจากความมีอิสระในการทำงานแล้ว การทำงานเพียงคนเดียวอาจไม่ส่งผลดีต่อบริษัทมากนัก องค์กรต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้พนักงานให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นทีม

         โค้ชชิ่ง (Coaching) เป็นกระบวนการพัฒนาบุคลากร ซึ่งสามารถนำมาใช้กระตุ้นการทำงานเป็นทีม โดยองค์กรต้องหาสาเหตุ ตลอดจนสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม ผู้ที่จะมาทำหน้าที่โค้ชชิ่งพนักงานนั้น ต้องมีความรู้ความเข้าใจการทำงานเป็นทีมในระดับหนึ่งก่อน พนักงานจึงจะเกิดความเชื่อมั่น และปฏิบัติตามได้

           โค้ชชิ่งอย่างไร? จึงจะทำให้พนักงานอยากทำงานเป็นทีม ขั้นตอนและวิธีการมีความสำคัญ ผู้ที่ทำหน้าที่โค้ชชิ่งพนักงานต้องปลูกฝังแนวคิด เพื่อการพัฒนาตัวเองให้พนักงานได้เรียนรู้ โดยสามารถเริ่มต้นจากขั้นตอนเหล่านี้

หาสาเหตุของการทำงานคนเดียว

          ก่อนเริ่มต้นโค้ชชิ่ง เราต้องหาสาเหตุก่อนว่ามีเหตุผลใดบ้างที่ทำให้พนักงานชอบทำงานคนเดียว เขามีปัญหาอะไรหรือไม่ จึงทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ โดยรวมแล้ว คนที่ชอบทำงานคนเดียว มักจะเป็นคนที่คิดว่าตัวเองเก่งคนเดียว คนอื่นทำงานสู้เขาไม่ได้ ทำงานคนเดียวแล้วสะดวกกว่า มนุษยสัมพันธ์ไม่ดี ปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ยาก พนักงานของเรามีปัญหาหนึ่งในนั้นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น เราก็จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

ชี้ให้เห็นข้อดีของการทำงานเป็นทีม

          สร้างความเข้าใจให้เกิดกับพนักงานในเรื่องการทำงานเป็นทีม ข้อดีนั้นมีมากน้อยเพียงใด เมื่อถึงขั้นตอนนี้ เราอาจจะให้พนักงานได้พูดความรู้สึกภายในใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อน เพื่อที่เราจะได้รับรู้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากน้อยขนาดไหน จากนั้น จึงค่อยอธิบายให้เห็นข้อดีที่จะเกิดขึ้นหากเราทำงานเป็นทีม

นำมาปฏิบัติจริงอย่างไร

          เมื่อพนักงานเข้าใจความหมายของการทำงานเป็นทีมแล้ว เราอาจจะต้องพูดเสริมในบางเรื่อง เช่น การนำแนวคิดนั้นมาปฏิบัติจริงต้องทำอย่างไร และสามารถทำออกมาได้ในแนวทางใดบ้าง พนักงานบางคนอาจจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ เมื่อต้องนำทฤษฎีเหล่านั้นมาปฏิบัติจริง เพราะยังไม่ได้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมมากพอ เราจึงต้องทำให้พนักงานเกิดความเชื่อ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง แต่เราต้องอธิบายให้เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถทำได้จริง โดยอธิบายวิธีการที่เป็นรูปธรรม ด้วยการยกตัวอย่าง เช่น เมื่อทำงานเป็นทีมแล้ว เราจะขอความช่วยเหลือ หรือขอความร่วมมือจากคนในทีมนั้น เราต้องทำอย่างไร เพียงเท่านี้ พนักงานก็จะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าเขาต้องทำอย่างไร

สร้างแรงจูงใจให้รู้สึกคล้อยตาม

          ตัวอย่างเป็นสิ่งสำคัญ หากเราอยากให้เขาทำตามคำแนะนำของเรา ให้สร้างแรงจูงใจขึ้นมาก่อน เราอาจจะต้องหาวิธีการอะไรก็ตามที่จะกระตุ้นให้พนักงานเห็นด้วยกับแนวคิดและวิธีการของเรา หากเราสร้างแรงจูงใจได้แล้ว ความสำเร็จในการทำงานเป็นทีม ก็จะเริ่มปรากฎให้เห็นทีละน้อย พนักงานจะเริ่มมีความเห็นคล้อยตาม จนมองเห็นข้อดีของการทำงานเป็นทีม เราสามารถยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงข้อดีของการทำงานเป็นทีม เมื่อพนักงานเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง เขาก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

ถามความรู้สึกของพนักงาน

          เมื่อเราได้กระตุ้นความรู้สึกของพนักงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่เรามองข้ามไปไม่ได้ คือ การถามความรู้สึก เราควรถามว่าหลังจากที่ได้ฟังไปแล้ว เขารู้สึกอย่างไร พอจะให้ความร่วมมือได้หรือไม่ หรือไม่เช่นนั้น เราอาจจะถามคำถามอื่น เช่น รู้สึกอย่างไรหากการทำงานเป็นทีม จะทำให้เราสามารถทำงานได้เร็วขึ้น หากเราสามารถทำงานได้เร็วขึ้น เราจะรู้สึกอย่างไร เป็นต้น คำถามเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกให้อยากทำตาม และให้ความร่วมมือมากขึ้น แม้ว่าวิธีการจะไม่ได้เกิดผลในทันที แต่อย่างน้อยก็จะทำให้พนักงานนึกได้ว่ามีวิธีการนี้อยู่ หากจะนำมาปรับใช้เมื่อไรก็ย่อมทำได้ เพราะเคยมีคนชี้นำแนวทางไว้แล้ว

           โค้ชชิ่ง คือ การสอนเพื่อให้เกิดพัฒนาการของทักษะ เพิ่มพูนความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในตนเองให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราต้องมีการส่งเสริมให้ปฏิบัติตามอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ช้าไม่นาน พนักงานก็จะทำตามแนวทางที่เราได้แนะนำ และวางแนวทางไว้อย่างแน่นอน

 2510
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์