ระเบียบการลาทุกประเภท
- พนักงานที่ประสงค์จะลาหยุดงาน จะต้องกรอกข้อมูลการลาในระบบ ESS พร้อมแจ้งผู้บังคับบัญชาด้วยวาจา และยื่นขออนุญาตเป็นการล่วงหน้าต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น และจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อผู้บังคับบัญชาได้อนุมัติการลาแล้วเท่านั้น
- ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถทำการลาผ่านระบบ ESS หรือไม่สามารถขออนุญาตล่วงหน้าได้ เป็นหน้าที่ของพนักงานที่จะต้องโทรแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบโดยเร็วที่สุด ภายในเวลา 09.00 น. นับจากเวลาเริ่มงานปกติ และเมื่อกลับมาทำงานปกติแล้ว จะต้องทำการลาผ่านระบบ ESS
- การฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติในการลา หรือการแจ้งข้อความที่เป็นเท็จต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อที่จะได้รับการอนุญาตให้ลาหยุดงานนั้น ถือเป็นความผิดทางวินัย
ลาหยุดพักผ่อนประจำปี
พนักงานที่ปฏิบัติงานกับบริษัทฯ ครบ 1 ปี สามารถลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติ โดยบริษัทฯ กำหนดจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับพนักงาน ดังนี้
- คิดตามอายุงานโดยนับถึง1 ม.ค. ปีถัดไป
- 2 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ลาพักร้อน 6 วัน
- 3 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ลาพักร้อน 8 วัน
- 5 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ลาพักร้อน 10 วัน
พนักงานที่บรรจุเป็นพนักงานประจำแต่ปฏิบัติงานไม่ครบ 2 ปีสามารถลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ตามสัดส่วนโดยนับจากเดือนที่พนักงานเริ่มงานดังนี้
- เกิน1 ปีแต่ไม่ถึง2 เดือนมีสิทธิ์ลาพักร้อน 1 วัน
- เกิน1 ปีแต่ไม่ถึง4 เดือนมีสิทธิ์ลาพักร้อน 2 วัน
- เกิน1 ปีแต่ไม่ถึง6 เดือนมีสิทธิ์ลาพักร้อน 3 วัน
- เกิน1 ปีแต่ไม่ถึง8 เดือนมีสิทธิ์ลาพักร้อน 4 วัน
- เกิน1 ปีแต่ไม่ถึง10 เดือนมีสิทธิ์ลาพักร้อน 5 วัน
- เกิน1 ปี 10 เดือนขึ้นไปมีสิทธิ์ลาพักร้อน 6 วัน
พนักงานที่ประสงค์จะลาหยุดพักผ่อนประจำปีจะต้องขอและได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และบริษัทฯ อาจกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานแต่ละคนได้ตามความเหมาะสม
พนักงานไม่สามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ในปีถัดไป หากพนักงานมีวันหยุดลาพักผ่อนคงเหลือ ทางบริษัทฯ จะทำจ่ายคืนเป็นอัตรา/วัน ในตอนสิ้นปี
การหยุดพักผ่อนประจำปีถือตามปีปฏิทินเป็นเกณฑ์ ซึ่งบริษัทฯ จะคำนวณจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามสัดส่วนระยะเวลาการปฏิบัติงานของพนักงานในกรณีดังต่อไปนี้
- ปีแรกของการเข้าทำงานของพนักงานภายหลังครบระยะเวลาทดลองงาน
- พนักงานลาออกระหว่างปี
- พนักงานเกษียณอายุ
การลากิจ
- พนักงานมีสิทธิลางานเพื่อปฏิบัติกิจที่คนอื่นไม่สามารถทำการแทนได้และไม่สามารถทำกิจดังกล่าวในวันหยุดได้หรือมีความจำเป็นต้องไปประกอบพิธีศพของบิดา มารดา คู่สมรส บุตรของพนักงาน หรือการรับปริญญาตามหมายกำหนดการของมหาวิทยาลัย พนักงานมีสิทธิลากิจโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติ 6 วันต่อปี สำหรับพนักงานที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานแล้วเท่านั้น
- พนักงานที่ประสงค์จะลาหยุดจะต้องขอและได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง ก่อนล่วงหน้า 2 วันทำงาน
- การลากิจตามความจำเป็นที่ต้องลา 1-2 ชั่วโมง ให้บันทึกการลาในระบบและแจ้งหัวหน้างานตามปกติ จำนวนชั่วโมงที่ลาจะนำมาสะสม
การลาป่วย
- พนักงานมีสิทธิในการลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติไม่เกินปีละ 30 วันส่วนที่เกิน 30 วันทำงานจะไม่ได้รับค่าจ้าง
- พนักงานที่ต้องการลาเนื่องจากป่วยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงรับทราบโดยเร็วที่สุดภายใน เวลา 09.00 น. โดยการโทรแจ้งและจะต้องบันทึกลาในระบบ และสำหรับพนักงานที่อยู่ในช่วงทดลองงานจะต้องแนบเอกสารใบรับรองแพทย์ในระบบให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติในวันแรกของการกลับมาทำงานด้วยทุกครั้ง
- การลาป่วยของพนักงานทดลองงานและการลาป่วยที่ติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปหรือลาป่วยต่อเนื่องวันหยุดยาวบริษัทฯมีสิทธิขอให้พนักงานแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งระบุการวินิจฉัยโรคเพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นในการลาป่วย
การลาคลอด
- พนักงานหญิงที่มีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรได้ก่อนและหลังคลอดบุตรครรภ์หนึ่งรวมกันไม่เกิน 98 วันโดยนับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วยทั้งนี้บริษัทฯจะจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 45 วันและอีก 45 วันติดต่อรับที่ประกันสังคมแต่พนักงานจะต้องจ่ายประกันสังคมครบ 7 เดือนจึงจะสามารถเบิกได้
- ต้องบันทึกขออนุมัติลาแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้า
- เมื่อกลับมาทำงานให้ส่งสำเนาสูติบัตรของบุตรให้ฝ่ายบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะภาพการลดหย่อนภาษีเงินได้ของพนักงาน
- การแท้งบุตรก่อนตั้งครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ ไม่ถือเป็นการคลอดบุตร ให้ถือเป็นการลาป่วย การลาเพื่อพบแพทย์ระหว่างการตั้งครรภ์ถือเป็นการลากิจ
การลาเพื่อรับราชการทหาร
- พนักงานชายลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบเพื่อฝึกวิชาทหารหรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาไม่เกินปีละ 60 วันโดยบันทึกลาในระบบพร้อมแนบหนังสือเรียกตัวจากทางราชการฉบับจริง
- พนักงานจะต้องยื่นใบลาพร้อมแนบเอกสารประกอบจากทางราชการให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน
- เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการลาดังกล่าว ให้พนักงานรายงานตัวเข้าปฏิบัติงานในวันทำงานถัดไป โดยให้แสดงหลักฐานการลาต่อผู้บังคับบัญชา ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รายงานตัว มิฉะนั้นจะถือว่าขาดงาน
- การลารับราชการตามข้อนี้มิได้หมายความถึงการลาไปเกณฑ์ทหาร หากพนักงานต้องไปเป็นทหารตามหมายเกณฑ์ พนักงานจะต้องลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทฯ ทันที
การลาอุปสมบท
- พนักงานประจำชาย อายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปไม่เคยอุปสมบทมาก่อนมีสิทธิลาเพื่ออุปสมบทได้ 1 ครั้ง ตลอดอายุการทำงานกับบริษัทฯ
- พนักงานสามารถลาอุปสมบทได้ 15 วัน นับรวมวันหยุด บริษัทฯจะจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา
- พนักงานชายที่ประสงค์จะใช้สิทธิลาเพื่ออุปสมบท จะต้องขออนุมัติลาล่วงหน้าและได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน โดยกำหนดวันลาและวันกลับมาทำงานอย่างชัดเจนพร้อมทั้งแสดงหนังสือรับรองการอุปสมบท
- เมื่อพนักงานลาสิกขาบทแล้ว พนักงานต้องนำหลักฐานแสดงการอุปสมบทและการลาสิกขาบท (ใบสุทธิ) มาแสดงต่อผู้บังคับบัญชา ภายใน 7 วันนับแต่วันที่กลับเข้ามาทำงาน
- บริษัทฯสงวนสิทธิที่จะไม่อนุมัติให้ลาหรือขอให้เลื่อนหรือลดจำนวนวันลาลงได้หากเห็นว่าอาจมีความเสียหายต่องาน
ลาเพื่อทำหมัน
- พนักงานมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรองให้ โดยบริษัทฯ จะจ่ายค่าจ้างให้เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตามจำนวนวันที่พนักงานลาเพื่อทำหมันเท่านั้น
- พนักงานต้องยื่นใบลาให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 7 วันทำงาน
- พนักงานจะต้องยื่นหลักฐานประกอบการลาในวันแรกที่กลับเข้ามาทำงาน
ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้
พนักงานมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2541 ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังนี้
- เพื่อประโยชน์ต่อการแรงงานและสวัสดิการสังคมหรือเพิ่มทักษะ ความชำนาญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน
- การสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัด หรืออนุญาตให้จัดขึ้น ทั้งนี้ การฝึกอบรม หรือพัฒนาความรู้จะต้องมีโครงการหรือหลักสูตรและกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนและชัดเจน
พนักงานสามารถลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง และรวมวันลาแล้วจะต้องไม่เกิน 30 วันต่อรอบปีปฏิทินโดยได้รับค่าจ้างในวันทำงานปกติ
พนักงานที่ประสงค์จะลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้จะต้องยื่นใบลาให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
บริษัทฯ อาจไม่อนุญาตให้พนักงานลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้หากการลานั้นก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบกระเทือนต่อธุรกิจของบริษัทฯ
การหยุดงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการหยุดงานที่ไม่ถูกระเบียบ
- หากหยุดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรถือเป็นการละทิ้งหน้าที่พนักงานจะไม่ได้รับค่าจ้างและถูกลงโทษทางวินัย
การลาออก
- พนักงานที่มีความประสงค์จะลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทฯต้องยื่นหนังสือขอลาออกล่วงหน้า 30 วัน
- พนักงานฝ่ายบริหารต้องแจ้งล่วงหน้า 45 วันหากไม่ยื่นลาออกล่วงหน้าพนักงานต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย (ถ้ามี)
- พนักงานที่ลาออกจะได้รับเงินเดือนงวดสุดท้ายเป็นเงินสดจ่ายในวันสิ้นเดือนของเดือนนั้นๆ
การเกษียณอายุ
- พนักงานครบเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- บริษัทฯจะให้เกษียณอายุการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนหลังวันครบเกษียณอายุ
- พนักงานจะได้รับUsername & Password สำหรับเข้าใช้บันทึกขออนุมัติลาในโปรแกรมHRMI
- เมื่อพนักงานจะลาให้ไปบันทึกขออนุมัติลาในโปรแกรมHRMI และรอผู้บังคับบัญชาอนุมัติการลา
- โปรแกรมHRMI จะบันทึกประวัติและจำนวนวันลาเจ้าหน้าที่HR จะประมวลผลและส่งรายงานให้พนักงานตรวจสอบประจำทุกเดือน