ปุจฉา การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมีหลักเกณฑ์อย่างไร
วิสัชนา ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมีหลักเกณฑ์ดังนี้
ขั้นที่หนึ่ง ให้นำเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40 (5) แต่ไม่รวมถึงเงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ เงินได้พึงประเมินจากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) เงินได้พึงประเมินจากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ ตามมาตรา 47 (7) และเงินได้พึงประเมินจากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นใด มาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา เป็นอัตราร้อยละของเงินได้พึงประเมิน หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงตามเอกสารหลักฐานในการประกอบกิจการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือสมควร
ขั้นที่สอง จากนั้นหักด้วยค่าลดหย่อน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้หักได้กึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ตามแบบ ภ.ง.ด.90) ประกอบด้วย ค่าลดหย่อนส่วนตัวผู้มีเงินได้ 15,000 บาท คู่สมรสของผู้มีเงินได้ 15,000 บาท บุตรของผู้มีเงินได้ที่มิได้ศึกษา หรือศึกษาในต่างประเทศคนละ 7,500 บาท และบุตรที่ศึกษาในประเทศไทย คนละ 8,500 บาท ทั้งนี้ เฉพาะบุตรที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีสิทธิหักลดหย่อนเท่านั้น บุพการีของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสคนละ 15,000 บาท
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไประหว่างมกราคม ถึงมิถุนายนในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ในส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท อีกไม่เกิน 40,000 บาทให้ได้สิทธิยกเว้นภาษีโดยนำมาหักเช่นเดียวกับค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยที่จ่ายไประหว่างมกราคม ถึงมิถุนายน ในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ในส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท อีกไม่เกิน 40,000 บาทให้ได้สิทธิยกเว้นภาษีโดยนำมาหักเช่นเดียวกับค่าลดหย่อน
เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา จำนวนสองเท่าของที่จ่ายจริงระหว่างมกราคม ถึงมิถุนายน แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นแล้ว
ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ให้หักลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงระหว่างมกราคม ถึงมิถุนายนแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นแล้ว
ขั้นที่สาม คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด ให้นำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราก้าวหน้า โดยได้รับยกเว้นสำหรับเงินได้สุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท แรก
ขั้นที่สี่ เฉพาะกรณีที่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) - (8) ดังกล่าวมีจำนวนรวมกันเกินกว่า 1 ล้านบาท ให้ผู้มีเงินได้นำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 0.5% ของเงินได้พึงประเมิน แล้วเปรียบเทียบกับจำนวนภาษีเงินได้ตามขั้นที่สาม จำนวนใดมากกว่าให้เสียตามจำนวนนั้น