ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557
ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา นิยามศัพท์คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ที่กำหนดขึ้นใหม่มีใจความอย่างไร
วิสัชนา ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ระหว่างบทนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” และคำว่า “ขาย” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้
“คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” หมายความว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกัน อันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ” กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น โดยเด็ดขาด ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นไป แม้จะได้ชื่อว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” หากมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ก็ย่อมถือเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล”
ปุจฉา การกำหนดให้ยกเลิกความตามมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร มีผลอย่างไร
วิสัชนา การยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเคยกำหนดให้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ซึ่ง ณ บัดนี้ หากห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลได้ทำการแบ่งปันผลกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องนำเงินได้ที่เป็นส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ไปถือรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ในนามของหุ้นส่วนคนนั้น อีกครั้งหนึ่ง อันถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซ้ำซ้อน ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยเหตุนี้ อธิบดีกรมสรรพากร จึงได้กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญมีหน้าที่ต้องจัดทำ “รายงานบัญชีรับ - จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ยื่นพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.90 ซึ่งจะต้องยื่นรายการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นไป
ปุจฉา มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร
วิสัชนา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล แต่อย่างใด เคยปฏิบัติอย่างไรก็ให้ปฏิบัติคงเดิมต่อไป ทั้งในส่วนของการรับรู้เงินได้ การหักค่าใช้จ่าย การหักลดหย่อน และการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท แรก รวมทั้งอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94 เนื่องเพราะไม่มีการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้