เคล็ด (ไม่) ลับ ความปลอดภัยบนเครื่องบิน

เคล็ด (ไม่) ลับ ความปลอดภัยบนเครื่องบิน

 

หลังจากที่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับสายการบินต่างๆ เป็นเหตุให้มีบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ จึงต่อสายโทรศัพท์ไปยัง นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย นักบินผู้มากประสบการณ์ เพื่อสอบถามถึงวิธีการนั่งเครื่องบินผู้โดยสารควรจะปฏิบัติอย่างไรขณะอยู่บนเครื่องบินเพื่อความปลอดภัย

กัปตันสนอง เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้โดยสารควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เมื่ออยู่บนเครื่องบิน ดังนี้...

เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม
ผู้โดยสารควรแต่งกายให้เหมาะสม ใส่เสื้อผ้าที่ครอบคลุมทั้งแขนขา เพื่อป้องกันวัตถุ เช่น โลหะ กระจก แก้วที่จะพุ่งเข้าใส่ตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หากเป็นไปได้ไม่ควรใส่ส้นสูงหรือใช้ผ้าที่ติดไฟง่าย เมื่อเกิดอุบัติเหตุสิ่งของพวกนี้อาจจะทำให้ไม่คล่องตัวในการอพยพ

สิ่งของต้องห้ามที่ไม่ควรนำขึ้นเครื่องบิน

ห้ามนำวัตถุอันตรายขึ้นเครื่อง
ผู้โดยสารไม่ควรนำวัตถุอันตรายขึ้นเครื่องตามคำแนะนำของสายการบิน เช่น ของที่ทำให้ติดไฟได้ง่าย กระป๋องอัดแก๊ส ไฟแช็ก วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด วัตถุมีพิษ วัตถุมีคม และล่าสุดแบตเตอรี่สำรองหรือเพาเวอร์แบงก์ที่มีความจุเกิน 20,000 แอมป์

สังเกตทางออกฉุกเฉิน
ผู้โดยสารควรที่จะสังเกตว่าทางออกฉุกเฉินอยู่ที่ใด เผื่อเกิดกรณีที่ต้องมีการอพยพออกจากเครื่องบินในกรณีฉุกเฉินจะได้ตื่นตระหนก เพราะส่วนมากเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบไฟฟ้าบนเครื่องมักจะโดนตัด

ตั้งใจดูการสาธิตอุปกรณ์ฉุกเฉิน
วิธีการใช้เสื้อชูชีพ ภาพโดย aviation.stackexchange.com

สนใจการสาธิตการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน
ผู้โดยสารควรที่จะศึกษาและสนใจการสาธิตการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินบนเครื่องบินจากพนักงานต้อนรับ รวมไปถึงศึกษาแผ่นคู่มือความปลอดภัย

เก็บสัมภาระให้เข้าที่และเรียบร้อย
การเก็บสัมภาระที่ถูกต้อง

เก็บสัมภาระให้เข้าที่
ผู้โดยสารควรเก็บสัมภาระให้เข้าที่ไม่ควรวางไว้บนพื้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ความเร็วของสัมภาระที่เคลื่อนที่มันจะมีความเร็วและเป็นอันตรายอย่างมาก หากผู้โดยสารจะอพยพสัมภาระที่วางอยู่บนพื้นอาจทำให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ สะดุดล้มได้ เวลาเกิดเหตุเครื่องบินจะมืดมีควัน ผู้โดยสารอาจเดินเหยียบของต่างๆ

รัดสายเข็มขัดที่นั่งอย่างถูกต้อง
ผู้โดยสารควรรัดสายเข็มขัดที่นั่งอย่างถูกต้อง กระชับช่วงเอว และปรับเบาะนั่งให้อยู่ในระดับตรง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุตัวคนจะไหลลงไปในช่องของเบาะนั่งด้านหน้า หรือผู้โดยสารบางคนรัดสายเข็มขัดที่นั่งเสร็จก็ลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือเครื่องจะออกก็ลุกไปเข้าห้องน้ำ อีกทั้ง เมื่อเครื่องลงจอดแล้วผู้โดยสารบางคนก็ปลดสายเข็มขัดออก หยิบสัมภาระเตรียมตัวลงจากเครื่อง แต่หารู้ไม่ว่าเครื่องบินที่กำลังแท็กซี่เข้าหลุมจอดหรือเครื่องเคลื่อนที่อยู่บนพื้นนั้น บางครั้งมีความเร็วถึง 40-50 กม./ชม. อาจจะเบรกกะทันหันก็ได้

เลือกที่นั่งใกล้ประตูฉุกเฉิน

หากเป็นไปได้ให้นั่งใกล้กับทางออก
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยกรีนวิชถึงแนวโน้มที่จะอยู่รอด พบว่า หากนั่งอยู่ภายในห้าแถวของทางออก และเมื่อนั่งอยู่แถวหกหรือมากกว่า โอกาสของการรอดจะเหลือ 50:50 หรือถ้านั่งอยู่บนทางเดินออกจากนั้นยิ่งดี ขณะที่ นั่งริมทางเดิน โอกาสในการอยู่รอดเป็นร้อยละ 64 เทียบกับที่นั่งริมหน้าต่าง ร้อยละ 58

ไม่ลุกขึ้นยืนหรือเดินในขณะที่เครื่องกำลังขึ้น-ลง

สติมาปัญญาเกิด
ผู้โดยสารควรจะมีสติและมีความพร้อมขณะที่เครื่องกำลังขึ้น-ลง เหตุฉุกเฉินมักจะเกิดในช่วงนั้นมากที่สุด วิธีที่ทำได้เบื้องต้นคือการไม่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และการรัดเข็มขัดที่นั่งอย่างถูกวิธี

จากผลการศึกษาในต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าถ้าออกจากเครื่องบินภายในเวลา 90 วินาที หลังจากที่การเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดมากขึ้น ซึ่งปฏิกิริยาที่จะทำให้เกิดความผิดพลาด คือ การนั่งอยู่ในภวังค์ตะลึงปนตกใจ และรอให้คนมาช่วย ฉะนั้น การออกจากเครื่องบินให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้อาจช่วยให้มีชีวิตรอด

ทั้งนี้ กัปตันสนอง ระบุว่า การเกิดอุบัติเหตุทางการบินมีน้อยมาก โดยสถิติแล้วโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากทางรถยนต์ระหว่างการเดินทางไปสนามบินมีมากกว่าอุบัติเหตุจากการขึ้นเครื่องบินถึง 2,000 เท่า

ภาพโดย seatguru.com

The Popular Mechanics ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ทางสถิติ โดยผลการวิเคราะห์ได้แบ่งลำตัวเครื่องบินออกเป็น 4 ส่วน และพบว่า ยิ่งนั่งใกล้หางเครื่องบินมากกว่า ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่านั่งในส่วนหน้าถึง 20% ขณะที่ ส่วนหัวของเครื่องบินคือจุดเสี่ยงตายมากที่สุด และเป็นที่นั่งชั้น First Class และ Business Class ซึ่งมีโอกาสรอดชีวิตประมาณ 49% เท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 56% เมื่อนั่งตรงส่วนกลางและส่วนบริเวณปีกของเครื่องบิน ด้าน ชั้นประหยัดในส่วนท้าย จะมีโอกาสรอดมากถึง 69%

นั่งตรงปีกของเครื่องวิวสายงาม
นั่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ภาพโดย Dailymail

ด้าน FAA สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไม่มีที่นั่งใดปลอดภัยที่สุด เพราะไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินในลักษณะใด

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารควรปฏิบัติตามแนวทางความปลอดภัยบนเครื่อง และคำแนะนำของพนักงานต้อนรับ โดยเฉพาะกฎเหล็กที่ไม่ควรฝ่าฝืนเด็ดขาดขณะอยู่บนเครื่องบิน และต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม ที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องตั้งมั่นครองสติอยู่เสมอ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย.

 

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก

www.aol.co.uk    
www.howstuffworks.com  
www.popularmechanics.com

 3844
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์