ในทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เดือนกันยายน ถือเป็นเดือนสุดท้ายของกำหนดเวลาสามเดือนของการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในปีนี้วันสุดท้าย คือวันจันทร์ที่ 30 กันยายนนี้ จึงไม่มีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 แต่อย่างใด เว้นแต่กรณีการยื่นแบบแสดงรายการทางอินเทอร์เน็ตที่กระทรวงการคลังขยายกำหนดเวลาออกไปอีก 8 วัน ในกรณีนี้ผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ก็จะได้สิทธิยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้ไปจนถึงวันที่ 8 ตุลาคม เวลา 24.00 น.

 

          สำหรับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด คือแบบ ภ.ง.ด.94 นั้น ใช้สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมิน 4 ประเภทหลัง ได้แก่ เงินได้ตามมาตรา 40 (5)(6)(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่ได้รับในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2554 ดังต่อไปนี้

          เงินได้ ตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร จากการให้เช่าทรัพย์สิน อาทิ การให้เช่าที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย หนังสือ เว้นแต่เงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง เงินค่าซ่อมแซม ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ซึ่งต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 และเสียภาษีเงินได้ล่วงหน้าไปแล้ว

          เงินได้ ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ เงินได้จากการประกอบโรคศิลปะหรือแพทย์รักษาคนไข้ วิชาชีพกฎหมาย เช่น ค่าว่าความของทนายความ ค่าที่ปรึกษาทางวิศวกร ค่าออกแบบของสถาปนิก ค่ารับจ้างทำบัญชีของสำนักงานบัญชี หรือค่าสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร ค่าจ้างของผู้รับจ้างทำงานประณีตศิลป์ เช่น ช่างวาด ช่างปั้น ช่างหล่อ เป็นต้น

          เงินได้ ตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร จากการรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ อาทิ ค่ารับเหมาก่อสร้างของผู้รับเหมา ซึ่งตามสัญญาจ้างเหมากำหนดให้ผู้รับเหมาต้องจัดหาวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในการรับเหมาด้วย บางครั้งเรียกว่า รับเหมาลำซำ

          เงินได้ ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จากการประกอบธุรกิจให้บริการ การพาณิชย์หรือการค้าขาย การเกษตรกรรมหรือชาวนา ชาวไร่ หรือชาวสวนผลไม้และสวนยางพารา และแม้แต่ชาวนาเกลือ การอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตสินค้า การขนส่ง อาทิ แท็กซี่ รถรับจ้างขนส่ง หรือการอื่นใด อาทิ รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค เป็นต้น รวมทั้งค่ารักษาสัตว์ของสัตวแพทย์ ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ “นักแสดงสาธารณะ” ที่กินความไปถึง นักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ หรือนักกีฬาอาชีพ อาทิ นักฟุตบอลอาชีพ นักแบดมินตันอาชีพ นักมวยสากลอาชีพ ซึ่งถือเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 ดังกล่าว

          ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำเกณฑ์การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มาใช้บังคับ ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องมีเงินได้เกินกว่าเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. สำหรับผู้ที่ไม่มีคู่สมรส ต้องมีเงินได้พึงประเมินเกินกว่า 30,000 บาท
  2. สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส ต้องมีเงินได้พึงประเมินเกินกว่า 60,000 บาท

          อนึ่ง สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่ถึง 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี พ.ศ. 2556 และผู้ที่มีอายุถึง 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี พ.ศ. 2556 กฎหมายกำหนดให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท

          ในการคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปีภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด แล้วหักด้วยค่าลดหย่อนจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนประจำปี รวมทั้งรายการยกเว้นเงินได้พึงประเมินเสมือนเป็นค่าลดหย่อน ที่กำหนดยอมให้หักรายการยกเว้นเงินได้นั้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย อาทิ เบี้ยประกันชีวิต และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยในส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว

          คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใดคำนวณตามอัตราภาษีก้าวหน้า (ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก) กรณีมีเงินได้พึงประเมินเกินกว่า 1 ล้านบาท ให้เปรียบเทียบจำนวนเงินภาษีตามอัตราก้าวหน้ากับภาษีจำนวน 0.5% ของเงินได้พึงประเมิน จำนวนใดมากกว่าให้เสียตามจำนวนนั้น