ระเบียบวินัยการอยู่ร่วมกันของ Prosoft Comtech

ระเบียบวินัยการอยู่ร่วมกันของ Prosoft Comtech

ระเบียบวินัยการอยู่ร่วมกันของ Prosoft Comtech

      เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมและความสงบสุขในการทำงานร่วมกันบริษัทฯได้กำหนดรายละเอียดความผิดทางวินัยและการลงโทษทางวินัยแบ่งเป็น

  • ความผิดสถานเบา
  • ความผิดสถานกลาง
  • ความผิดสถานหนัก

วินัย

  • ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร และเต็มความสามารถ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำสั่งโดยชอบธรรมของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่การงาน และให้ความนับถือผู้บังคับบัญชาและพนักงานที่มีอาวุโสสูงกว่า
  • รักษาและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด และให้ความร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่
  • มีกิริยาสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชา ต่อเพื่อนพนักงาน และต่อผู้ที่มาติดต่อกับบริษัทฯ
  • ปฏิบัติงานตามกำหนดเวลาทำงานและความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายโดยเคร่งครัด
  • รักษาทรัพย์สินของบริษัทฯ หรือทรัพย์สินที่บริษัทฯ จัดหาให้ โดยถือเสมือนว่าเป็นทรัพย์สินของพนักงานเอง รักษาความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ตลอดจนการประหยัดการใช้วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
  • แต่งกายสุภาพในระหว่างการทำงาน
  • ละเว้นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความแตกความสามัคคีระหว่างเพื่อนพนักงาน

การกระทำอันเป็นความผิด

  • ให้ เรียก รับ ยอมรับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้อื่นเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน
  • ละเลย ปฏิเสธ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย หรือหน้าที่ที่บริษัทฯ มอบหมาย เว้นแต่หน้าที่นั้นอาจะเป็นอันตรายแก่ตนเองอย่างร้ายแรง
  • ละทิ้งหน้าที่ ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการทำงาน หรือขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • เจตนาหน่วงเหนี่ยวหรือปฏิบัติงานล่าช้า
  • ไม่ปฏิบัติตามหรือละเมิดระเบียบข้อบังคับ
  • เล่นการพนัน เสพยาเสพติด เสพสุราหรือของมึนเมาในบริเวณบริษัทฯ หรือในเวลาทำงาน
  • มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว
  • แสวงหาผลประโยชน์จากการให้กู้ยืมภายในบริษัทฯ
  • ทำลาย ต่อเติม หรือแก้ไข ข้อความในประกาศหรือแผ่นป้ายของบริษัทฯ หรือติดประกาศ หรือเผยแพร่ข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทฯ
  • ให้ร้ายผู้อื่น บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีใน ระหว่างพนักงานด้วยกัน
  • ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของบริษัทฯ หรือผู้ที่บริษัทฯ มอบหมายให้ระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริง
  • จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบริษัทฯ หรือบุคคลอื่น
  • เปิดเผยความลับ เทคนิค ความรู้ หรือข่าวสารทางธุรกิจ อันเป็นความลับของบริษัทฯ หรือสิ่งที่บริษัทฯ ปกปิด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบริษัทฯ แล้ว
  • เปิดเผยอัตราเงินเดือน อัตราการขึ้นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนอื่นใดทั้งของตนเองและของผู้อื่นให้บุคคลอื่นทราบ ยกเว้นจะได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
  • ละเลย หรือปกปิด หรือไม่แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงความสูญเสียทรัพย์สินของบริษัทฯ ในเวลาอันสมควร
  • ทำลายหรือใช้ทรัพย์สินของบริษัทฯ ในทางที่ไม่สมควร หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เว้นแต่ละได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
  • มีส่วนร่วมกับการประกอบกิจการซึ่งมีลักษณะเป็นการแข่งขันหรือขัดผลประโยชน์ต่อบริษัทฯ

การลงโทษทางวินัย พนักงานผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบวินัย ข้อบังคับ หรือคำสั่งโดยชอบของบริษัทฯ บริษัทฯ จะพิจารณาความผิดและลงโทษตามที่เห็นสมควร ดังนี้ คือ

  • ตักเตือนด้วยวาจา
  • ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
  • พักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
  • ตัดโบนัสหรืองดขึ้นเงินเดือน
  • เลิกจ้าง
  • ไล่ออก

โทษทางวินัยขั้นร้ายแรงสำหรับความผิด ซึ่งบริษัทฯ ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง บริษัทฯ จะให้พนักงานออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แม้พนักงานจะทำความผิดครั้งแรก ดังนี้

  • ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดทางอาญาโดยเจตนาต่อบริษัทฯ
  • จงใจให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย หรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
  • ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทฯ และบริษัทได้ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงไม่ต้องตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย
  • ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (ยกเว้นความผิดลหุโทษ)

การร้องทุกข์

                  1.เมื่อพนักงานประสบปัญหาหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม พนักงานควรพูดจาปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง ผู้บังคับบัญชาทุกคนควรให้ความสำคัญแก่ปัญหาของพนักงานไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ต้องไม่ละเลยและพยายามแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว

             2.ในกรณีที่ปัญหาของพนักงานไม่ได้รับการแก้ไขในเวลาอันสมควร หรือเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง พนักงานอาจร้องทุกข์ถึงผู้บังคับบัญชาในระดับเหนือขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยชี้แจงสาเหตุและให้ข้อมูลอย่างสมบูรณ์ ผู้บังคับบัญชาจะต้องรีบไต่สวนข้อร้องทุกข์ ทำการวินิจฉัย และแจ้งให้พนักงานทราบผลโดยไม่รอช้า

                   3.ในกรณีที่พนักงานยังไม่พอใจในผลการพิจารณาข้อร้องทุกข์ตามข้อ 2

                4.พนักงานอาจเสนอข้อร้องทุกข์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อฝ่ายทรัพยากรมนุษย์พิจารณาข้อร้องทุกข์ใหม่ หากฝ่ายทรัพยากรมนุษย์พิจารณาเห็นว่าเป็นกรณีร้ายแรงหรือมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จะนำเสนอกรรมการผู้จัดการเพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนทำการวินิจฉัยเพื่อพิจารณาและแจ้งให้พนักงานโดยเร็ว โดยจะถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด

       พนักงานผู้ยื่นคำร้องทุกข์และผู้เกี่ยวข้องจะได้รับสิทธิคุ้มครองจากบริษัทฯ ในระหว่างการร้องทุกข์และสอบสวน โดยการร้องทุกข์มิใช่เป็นการกระทำความผิดและไม่ส่งผลอันเป็นโทษแก่ผู้ร้องทุกข์หรือผู้เกี่ยวข้อง จนกว่าผลการวินิจฉัยจะสิ้นสุดลง

 4955
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์