กฎหมายแรงงานต้องรู้สำหรับคนทำงาน

กฎหมายแรงงานต้องรู้สำหรับคนทำงาน

เมื่อเอ่ยถึงกฎหมาย คนทำงานหลายคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับการทำงานสักเท่าไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายแรงงานไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่คนทำงานทุกคนต้องรู้ เพราะเราจะได้ปกป้องสิทธิของตนเอง ไม่ให้นายจ้างมาเอารัดเอาเปรียบเราได้

          กฎหมายแรงงานที่คนทำงานทุกคนต้องรู้นั้น มีอะไรบ้างที่คนทำงานทุกคนต้องรู้ หากปฏิเสธว่าไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่เพียงแต่เราจะคุยกับคนทำงานคนอื่น ๆ ไม่รู้เรื่องเท่านั้น แต่ยังทำให้เราอาจจะต้องเสียสิทธิที่เราควรจะมีไปอย่างง่ายดาย กฎหมายแรงงานพื้นฐานที่คนทำงานควรรู้ มีดังต่อไปนี้

บริษัทสามารถทดลองงานได้นานแค่ไหน

          หลายคนจะรู้สึกว่าแต่ละบริษัททดลองงานไม่เท่ากัน บางบริษัท 3 เดือน แต่บางบริษัท 4 เดือน ในความเป็นจริงแล้วควรเป็นเช่นไรจึงจะเกิดความเป็นธรรมต่อคนทำงาน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานระบุไว้ว่าการทดลองงาน เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา โดยให้สิทธินายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ในกรณีที่ทำงานติดต่อกันไม่เกิน 119 วัน หากต้องการเลิกจ้างควรทำในช่วงเวลาดังกล่าว หากเกินในช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นการทำผิดกฎหมายแรงงาน

ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้กี่วัน

          เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย หลายคนจะกังวลว่าจะถูกเพ่งเล็งจากนายจ้าง โดยเฉพาะคนที่เพิ่งทำงานครั้งแรก จะรู้สึกว่าไม่กล้าขอลาป่วยกับเจ้านาย กฎหมาย ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ตามจริง แต่จะได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ดังนั้น นายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างป่วย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นายจ้างมีสิทธิให้ลูกจ้างแสดงใบรังรองแพทย์ เมื่อลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป

สิทธิในการลาหยุดพักร้อน

          คนทำงานที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ไม่น้อยกว่า 6 วัน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุด หรือตามที่ตกลงกันไว้  และหากว่ายังไม่ได้ใช้วันหยุดในปีนั้น ก็สามารถทำข้อตกลงกันเพื่อสะสม หรือยกวันลาหยุดที่เหลือไปใช้ในปีต่อไปได้  บางบริษัทจะกำหนดให้ลูกจ้างต้องใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้หมดในปีนั้น ๆ หากใช้ไม่หมดให้ถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งไม่ได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างไร เพราะเป็นการกำหนดเพื่อให้ลูกจ้างใช้สิทธิให้ครบถ้วนเท่านั้นเอง

นายจ้างมีสิทธิบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือไม่

          การทำงานล่วงเวลา หรือโอที (Overtime) หมายถึงการทำงานในช่วงเวลาพิเศษ ที่นอกเหนือจากการทำงานในช่วงเวลาปกติ และต้องมาจากการทำงานที่เป็นไปด้วยความสมัครใจ นายจ้างไม่มีสิทธิมาบังคับให้ลูกจ้างทำงานโอทีได้ แต่คนสามารถทำงานได้เท่าที่จำเป็น เช่น หากเราไม่อยู่ทำงานต่อ จะทำให้งานนั้นเกิดความเสียหาย หรือไม่สามารถส่งมอบงานนั้นให้ลูกค้าได้ทันเวลา เราก็อาจจะต้องเสียสละเวลาสักเล็กน้อย เพื่อทำงานชิ้นนั้นให้เสร็จสิ้น ในลักษณะนี้แล้วไม่ถือเป็นการบังคับ แต่เป็นความสมัครใจที่คนทำงานต้องให้ความร่วมมือ

เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง

          หากคนทำงานต้องถูกเลิกจ้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนทำงานจะได้รับความคุ้มครอง และชดเชยค่าเสียหาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี คนทำงานจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
  2. ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี คนทำงานจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
  3. ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี คนทำงานจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
  4. ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี คนทำงานจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  5. ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป คนทำงานจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน

 

          การรับรู้ถึงสิทธิที่คนทำงานควรจะได้รับเบื้องต้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่ยังช่วยให้เราได้เรียนรู้สิทธิและหน้าที่ในการทำงานอีกด้วย เพราะหากเราไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ จะทำให้เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเหตุผลเราจึงต้องทำตามกฎเกณฑ์ และมีสิ่งใดบ้างที่เราไม่สามารถทำได้

ภาพประกอบโดย stockimages เว็บไซต์ freedigitalphotos.net

ขอบคุณบทความจาก  Job DB

 1137
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์