ความเชื่อ แนวคิด และมุมมองของคนรุ่นใหม่ยุคนี้ต่อการทำงาน

ความเชื่อ แนวคิด และมุมมองของคนรุ่นใหม่ยุคนี้ต่อการทำงาน

 

ผมคิดว่าในการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคปัจจุบันถ้าจะทำให้สำเร็จจริงๆ ก็คงต้องเรียนรู้ว่าคนยุคใหม่นั้นเขาคิดกันอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตส่วนตัว และเรื่องของการทำงาน เพราะถ้าองค์กรสามารถเข้าใจแนวคิด และมุมมองของคนรุ่นใหม่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถนำมาใช้ในการออกแบบการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทได้มากเท่านั้น

ผมได้อ่านแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ต่อชีวิต และการทำงานซึ่งมีคนศึกษาและทำวิจัยไว้ เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Free Radicals ซึ่งแปลเป็นไทยแบบภาษาวิชาการว่า อนุมูลอิสระ ว่ากันจริงๆ ก็คือ เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง มีความเป็นอิสระไม่ค่อยยึดติดกับใคร หรือกับอะไรมากนัก ซึ่งแนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ๆ ก็มักจะเป็นแนวๆ แบบนี้ ก็เลยเอามาสรุปให้อ่านกันเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการเอาไปใช้สำหรับการออกแบบการบริหารทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรได้

  • หาและทำงานที่ตนเองรักและชอบ คนรุ่นใหม่ยุคนี้และต่อไปในยุคหน้า จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เวลาหางาน หรือทำงาน ก็มักจะหางานและทำงานที่ตนเองรักและชอบ เพราะมีความคิดว่า จะไปทำงานที่ตนเองไม่ได้รักทำไม เพราะมันไม่มีความสุขอย่างแน่นอน ดังนั้นคนรุ่นใหม่ๆ จะไม่มีพฤติกรรมแบบว่า เรียนอะไรมาก็ทำงานแบบที่เรียนมา เด็กบางคนเรียนจบหมอ จบวิศวะ แต่ก็ไม่มีความคิดที่อยากจะทำงานแบบนั้น กลับอยากจะทำงานอย่างอื่นซึ่งเป็นงานที่ตนเองรักและชอบ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของตนเองมีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องฝืนที่จะต้องตื่นนอนตอนเช้า ลุกไปทำงานในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ เพราะถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำ เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติ มันเป็นตัวเรา ไม่ต้องฝืนใจทำ
  • รักอิสระ และเมื่อได้รับอิสระตามที่ตนต้องการ ก็จะสร้างผลงานที่ดีได้ คนรุ่นใหม่เป็นคนที่ชอบและรักอิสระในการใช้ชีวิต และการทำงาน ไม่ชอบการที่มีกรอบมาปิดกั้น ไม่ชอบกฎระเบียบที่ยุบยิบจนเกินไป เวลาทำงานก็ชอบที่จะมีอิสระในการใช้ความคิด และการนำเอาบางอย่างที่เป็นเรื่องส่วนตัวเข้ามาใช้ในการทำงานบ้าง ชอบที่จะทดลอง ทดสอบ และมีส่วนร่วมในการทำงานโครงการต่างๆ ในองค์กร
  • เชื่อว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ คนรุ่นใหม่ชอบทดลองอะไรใหม่ๆ ดังนั้นการที่เขาทดลองลองอะไรใหม่ ก็ต้องมีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ทัศนคติต่อความล้มเหลว หรือการทำงานไม่สำเร็จจึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนรุ่นนี้ ความล้มเหลวในบางครั้ง ก็เป็นตัวช่วยให้เขาหาหนทางไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าคาดหวังความสำเร็จจากเขา ก็ต้องยอมรับความล้มเหลวบ้างเช่นกัน
  • ไม่เชื่อเรื่องของระบบการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนเกินไป คนรุ่นใหม่จะไม่มีความอดทนต่อขั้นตอนการทำงานที่ล่าช้า เยอะแยะ เทอะทะ และมักจะมีคำถามและข้อสงสัยต่อระบบงานที่เรียกว่า ระบบงานมาตรฐานขององค์กรว่าจริงๆ แล้วมันเป็นมาตรฐานจริงๆ หรือ และมักจะมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่เร็วกว่า ดีกว่า ทำให้ตนเองสบายมากกว่าเดิม มาใช้แทนระบบเดิมๆ ซึ่งตรงจุดนี้เอง ที่อาจจะเห็นขัดแย้งกับคนบางกลุ่มที่มองว่า มาตรฐานก็คือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะถ้าไม่ใช่ก็คงไม่เรียกมาตรฐาน แต่คนรุ่นใหม่นี้จะมองว่า ทุกอย่างต้องสามารถทำให้ดีขึ้นได้อีก ดังนั้นมาตรฐานที่ดีที่สุดจึงไม่มี ถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ดังนั้นภาพของการทำงานแบบเดิมๆ ขั้นตอนแบบเดิมๆ ในบางองค์กรจึงทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่มีความสุข และไม่ชอบใจ และมักจะพยายามหาทางลัดเพื่อทำให้ได้ผลงานแบบเดิม หรือดีกว่าเดิม แต่ใช้วิธีการแบบใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม
  • มองว่าตนเองมีประโยชน์ต่อองค์กร คนรุ่นใหม่มีมุมมองว่า ตนเองเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อองค์กรมาก อยากให้องค์กรมอบหมายงานและใช้งานให้คุ้มค่ากับสิ่งที่เขามีอยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้ทำงานไปวันๆ โดยที่ไม่ได้อะไรขึ้นมา หรือถ้ารู้สึกว่า องค์กรนั้นไม่สามารถที่จะใช้งานเขาได้อย่างคุ้มค่าแล้ว เขาก็จะไปให้องค์กรอื่นที่เห็นคุณค่าของเขามากกว่า เพื่อทำงานให้ ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงชอบงานที่ท้าทาย ไม่จำเจ ซ้ำๆ บางคนชอบได้งานที่ต้องคิดเยอะๆ แบบว่าท้าทายมากๆ เพราะเขาจะรู้สึกว่าองค์กรให้ความไว้วางใจกับความสามารถของเขา และเขาจะต้องหาทางทำให้สำเร็จให้ได้ แม้ว่าอาจจะมีความล้มเหลวเกิดขึ้นบ้างก็ตาม
  • เชื่อเรื่องของการแบ่งปันในสังคมออนไลน์ คนรุ่นใหม่จะมองเรื่องของการแบ่งปันเป็นเรื่องธรรมดา คำว่าแบ่งปันนี้มาจากคำว่า Sharing กล่าวคือ มีอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เห็นอะไร ไม่เห็นอะไร รู้สึกอะไร หรือไม่รู้สึกอะไร ฯลฯ ก็ขอให้ได้ประกาศให้คนอื่นเขารู้ด้วย โดยผ่านสื่อต่างๆ ทางโลกของ social network ดังนั้นบางครั้งเราอาจจะเป็นว่าจู่ๆ คนรุ่นนี้ก็บ่นอะไรที่ไม่ค่อยรู้ว่ามันคือเรื่องอะไรขึ้นไปใน facebook บ้าง ที่แรงๆ เกี่ยวกับองค์กร หรือเจ้านายตัวเองก็มีบ้าง แต่อาจจะไม่มาก เพราะมีระเบียบขององค์กรกำกับอยู่อีกที แต่อย่างไรก็ดี ระเบียบเหล่านี้ ก็ไม่สามารถห้ามคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้เลย เพราะเขารักที่จะบอกต่อกันไปเรื่อยๆ รักที่จะแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของตนเอง และรักที่จะได้รับการตอบสนองในเรื่องราวนั้นๆ จากบุคคลอื่นๆ แม้กระทั่งคนที่เขาไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวเลยก็ตาม
  • เชื่อเรื่องการแข่งขัน และผลของงานมากกว่าเรื่องอื่น คนรุ่นใหม่ไม่สนแล้วว่า ใครจะอายุมากกว่าเขาสักเท่าไหร่ ถ้าไม่เคยทำผลงานอะไรเด่นๆ มาให้เห็น เขาก็จะไม่ค่อยนับถือ สิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่นับถือได้ก็คือ ผลงานที่โดดเด่น และเป็นแบบอย่างให้เขาได้นั่นเอง ดังนั้นผู้จัดการที่มีแต่อายุเยอะๆ จะมาดูแลคนรุ่นใหม่แบบนี้ ก็คงจะยาก ถ้าผู้จัดการคนนั้นไม่เคยทำผลงานอะไรให้เห็นเด่นชัด อีกทั้งคนรุ่นมองเรื่องการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดามา เพราะการที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น การแข่งขันกันในการทำงาน หรือทำธุรกิจ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเกิดผลที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เขาก็เลยไม่ปฏิเสธว่าชีวิตคือการแข่งขัน และจะต้องใช้การแข่งขันนี้เป็นตัวสร้างผลงานของตนเองให้ดีขึ้น และถ้าองค์กรตอบสนอง และให้รางวัลกับคนกลุ่มนี้โดยเน้นไปที่ผลงานที่แสดงออก ก็จะยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่นี้ เกิดความรู้สึกที่ดี และมีพลัง มีแรงจูงใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

อ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ เหมือนหรือต่างกับทัศนคติของตนเองเองสักแค่ไหน ผมว่าสิ่งที่เขียนมาข้างต้นนั้น เกิดขึ้นในบ้านเราแล้ว กับคนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังทยอยออกจากระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบแรงงาน เพราะจะเห็นได้จาก เด็กเลือกงานมากขึ้น ปฏิเสธงานได้อย่างมั่นใจ โดยไม่กลัวว่าตนเองจะไม่มีงานทำ เพราะถ้าได้งานที่ตนเองไม่ได้รัก ก็สู้อย่าทำงานเลยจะดีกว่า เวลาเข้ามาทำงานในองค์กรแล้ว ก็มักจะแสดงตัวตนให้เห็นชัดเจนมาก รักความอิสระ ไม่ชอบกฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้ตนเองใช้ชีวิตไม่สะดวก รักที่จะสร้างผลงานที่ดี แต่ก็ต้องไม่มีมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัวในการทำงาน ฯลฯ

 

ขอขอบคุณ :  /

 778
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์