เพื่อนที่ไม่ควรคบ เราควรจะทำอย่างไร

เพื่อนที่ไม่ควรคบ เราควรจะทำอย่างไร

เพื่อนเราเป็นไฉน? จะทำอย่างไร?

เพื่อนชอบเอาแต่ใจ...จะทำอย่างไร?
น่าจะลองขัดใจเพื่อนบ้างในเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยกับเขา และบอกเหตุผลของเราให้เขาฟัง แต่ถ้าเพื่อนไม่ยอมฟังแล้วโกรธเรา งอนเรา ก็ปล่อยเขาไปสักพัก เมื่อเขาคิดได้เขาก็คงเป็นฝ่ายกลับมาหาเราเอง โดยที่เราไม่ต้องไปง้อเขา แต่ถ้าเพื่อนโกรธแล้วโกรธเลย ก็คงต้องปล่อยเขาไป เราอยู่อย่างสบายใจของเราดีกว่า เรื่องอะไรจะต้องไปเสียเวลา เสียอารมณ์ คอยตามง้อตามเอาใจเพื่อนที่ไม่เคยคิดจะเอาใจเราบ้างเลย จริงไหม?

เพื่อนที่ชอบหงุดหงิดง่าย...จะทำอย่างไร?
เวลาที่เพื่อนหงุดหงิดก็ลองถามเขาสิคะว่าหงุดหงิดเรื่องอะไร หรือทำไมต้องหงุดหงิดด้วยเรื่องแค่นี้ ถ้าเหตุผลของความหงุดหงิดสมเหตุสมผลก็บอกให้เพื่อนระบายออกมาและรับฟัง อารมณ์ของเพื่อนจะดีขึ้นเอง แต่ถ้าหงุดหงิดไม่มีสาเหตุหรือด้วยสาเหตุที่เล็กน้อยเสียเหลือเกิน ถ้ารักเพื่อนหวังดีกับเพื่อนก็ต้องช่วยกันปรับพฤติกรรมเพื่อนกันแล้วล่ะค่ะ อาจจะไม่ให้ความสนใจและไม่ใส่ใจ หรือปลีกตัวหลบออกมา เมื่อไรก็ตามที่เพื่อนอารมณ์ดีค่อยเข้าไปหา แสดงความสนใจและพูดคุยด้วย หรือไม่ก็บอกเพื่อนไปตรง ๆ ว่าเราคงไม่สามารถที่จะทนรองรับอารมณ์ของเพื่อนได้ตลอดเวลา เอาไว้สบายใจเมื่อไรแล้วค่อยมาคุยกัน เชื่อว่าบ่อยครั้งเข้า เพื่อนก็จะเรียนรู้และปรับตัวได้เอง และเขารู้ว่าไม่สามารถออกฤทธิ์หรือแสดงอารมณ์ไม่ดีกับเพื่อนบ่อย ๆ ได้ ไม่มีเพื่อนคนไหนยอมรับ และอขาอาจ่จะกลายเป็นคนไม่มีเพื่อนถ้าัยังชอบหงุดหงิดใส่เพื่อนเสมอ ๆ

เพื่อนชอบนินทาลับหลัง เสียความรู้สึกมาก...จะทำอย่างไร?
"อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดไปกรีดหิน" คำพูดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป คนนินทาเขาก็สนุกของเขาไป และเขาก็คิดว่าเราไม่ได้ยิน เราก็น่าจะรับมุขของเขา คือทำเป็นไม่ได้ยิน ปล่อยให้มันผ่านไป อย่าไปเก็บเอามาคิดต่อ เรื่องก็จะจบ เรื่องอะไรเราจะต้องไปทุกข์ในขณะที่คนต้นเหตุเขาสนุกล่ะคะ มันไม่เห็นจะคุ้มกันเลย เป็นการทำร้ายตัวเองเปล่า ๆ ถือเสียว่าคำนินทาของเพื่อนเป็นการช่วยฝึกใจเราให้หนักแน่นก็แล้วกันค่ะ แล้วประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเรา ส่วนเราเองบางครั้งก็ยังเผลอนินทาเพื่อนไม่ใช่เหรอคะ โดยเราก็ไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไรกับเขา ดังนั้น เวลาที่ถูกนินทาก็คิดว่าเพื่อนล้อเล่น ไม่มีเจตนา ก็น่าจะดีเหมือนกันนะคะ ถ้าเืพื่อนคนนั้นเขาเป็นคนที่ขึ้นชื่อในเรื่องนินทาก็ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ต้องไปสนใจเลย เพราะจะไม่มีใครเชื่อคำพูดของคนช่างนินทาหรอกค่ะ แค่ฟังสนุก ๆ ไปอย่างนั้นเอง ถ้าเพื่อนคนที่นินทาเขายังมีความดีอื่นอยู่อีกมาก ก็น่าจะคบเขาต่อไปนะคะ คิดว่าเรื่องแค่นี้ขอกันกินก็แล้วกันนะ

เพื่อนทำไม่ดี เราจะเตือนอย่างไร เพื่อนจึงจะไม่โกรธ?
ถ้าเพื่อนเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ไม่มีเหตุผล คิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ การตักเตือนย่อมทำให้เพื่อนโกรธอย่างแน่นอน และอาจคิดไปในแง่ร้ายว่าเราอยู่คนละฝ่ายกับเขา แม้เราจะหวังดีกับเขาแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น ถ้าคิดจะตักเตือนเพื่อนประเภทนี้ก็ให้ทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่าเขาจะโกรธ และเมื่อเตือนแล้วก็ไม่ควรเตือนอีก จะเป็นการพูดซ้ำซาก เสียเวลา เสียอารมณ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ปล่อยให้เขาเผชิญความจริงด้วยตัวเองต่อไปดีกว่า แต่เมื่อใดที่เพื่อนคนนั้นมีความทุกข์ด้วยเรื่องที่เราเตือนเขาแล้ว เราก็ควรแสดงความเป็นเพื่อนที่ดีด้วยการปลอบใจเขา อย่าไปซ้ำเติมหรือพูดในเชิงสมน้ำหน้าว่าเราเืตือนแล้วเขาไม่เชื่อ จะทำลายน้ำใจกันเกินไป เพื่อนที่ดีเขาไม่ทำกัน เพื่อนคือเพื่อน ย่อมต้องมีความหวังดีต่อกัน ถึงเตือนแล้วจะโกรธ แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมานานก็คงตัดกันไม่ขาด แล้วสักวันหนึ่งเขาก็ต้องเข้่าใจในความหวังดีของเรา และอาจขอบคุณเราด้วยซ้ำไป อย่าปล่อยให้เพื่อนทำผิดแล้วเราไม่เตือนเพราะกลัวเขาโกรธเลย

เพื่อนแบบไหนที่เราปรึกษาได้ และควรเป็นเรื่องใดบ้าง?
ก่อนอื่นคุณควรเลือกเพื่อนที่จะปรึกษา ดูว่าเพื่อนคนนั้นเป็นคนรอบคอบ มีความคิดไตร่ตรอง มีเหตุผลหรือไม่ เป็นคนที่ไว้วางใจได้ มีความหวังดีต่อคุณอย่างจริงใจหรือเปล่า เขามีความรู้ในสิ่งที่คุณจะปรึกษามากน้อยแค่ไหน (เช่น ได้จากการอ่าน หรือประสบการณ์ตรง) คำถามต่อมาก็คือ คุณจะปรึกษาเรื่องอะไร อย่าลืมว่าเพื่อนของคุณอยู่ในวัยเดียวกับคุณ เขาคงรู้อะไรพอ ๆ กับคุณนั่นแหล่ะ ดังนั้น เรื่องที่จะปรึกษาควรเป็นเรื่องธรรมดาทั่ว ๆ ไปที่คุณคิดว่าเขาน่าจะรู้ เช่น เรื่องการเรียน การมีปัญหากับเพื่อนคนอื่น ๆ และการระบายปรับทุกข์เรื่องต่าง ๆ เพื่อนมักเป็นคนที่เหมาะกับการปรับทุกข์มากกว่าเป็นผู้ให้คำปรึกษา (และต้องดูว่าเขาพร้อมที่จะรับฟังคุณด้วย) คุณอาจรับฟังคำแนะนำของเืพื่อน แต่ก็ต้องแสวงหาคำแนะนำจากคนอื่น ๆ ด้วย เช่น พ่อแม่ ผู้ใหญ่ใกล้ชิด ซึ่งมีความรู้ รอบคอบ และมีประสบการณ์มากกว่าเพื่อน คุณจะได้ค้นพบคำตอบที่ดีที่สุด

คนรวยคนจนต่างกัน แต่จะเป็นเพื่อนกันได้ไหม?
ได้แน่นอน ถ้าสองฝ่ายเข้าใจ ยอมรับ และรักษาน้ำใจกัน คนที่รวยกว่าก็ไม่โอ้อวด วางตนข่มเพื่อน คนที่จนกว่าก็ไม่ฉวยโอกาส หลอกเอาเงิน หรือลดตัวไปเป็นลูกสมุนอยู่ใต้อำนาจเขา การเป็นเพื่อนกันนั้นเป็นการผสมผสานและเพิ่มเติมส่วนขาดให้กันและกัน เพื่อนที่รวยกว่าก็อาจต้องการที่ปรึกษาหรือต้องการคนเตือนสติเมื่อทำไม่ถูกไม่ควร ส่วนเพื่อนที่จนกว่าก็อาจต้องการคนให้กำลังใจ เรียกได้ว่าทั้งคู่ก็ต้องการกันและกันเพื่อความอบอุ่นใจ ไม่ควรโดดเดี่ยวทั้งในเวลาทุกข์และสุข หากคบใครแล้วรูสึกสบายใจ รู้สึกว่าเขาก็ชอบเรา จริงใจกับเรา ก็คบต่อไปเถอค่ะ อย่าให้ฐานะมาเป็นปัญหาให้ต้องคิดมากเลย

ที่มา : สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์

 7642
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์