• หน้าแรก

  • สาระดีดี

  • เตือนนั่งเล่นคอมพ์-หลบแดด-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงกระดูกพรุนยามแก่

เตือนนั่งเล่นคอมพ์-หลบแดด-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงกระดูกพรุนยามแก่

  • หน้าแรก

  • สาระดีดี

  • เตือนนั่งเล่นคอมพ์-หลบแดด-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงกระดูกพรุนยามแก่

เตือนนั่งเล่นคอมพ์-หลบแดด-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงกระดูกพรุนยามแก่

  เตือนเด็ก-วัยรุ่น-ผู้ใหญ่ นั่งจุ้มปุ๊กหน้าคอมพ์ ไม่ออกกำลังกาย หลบแดดกลัวผิวเสีย ทำมวลกระดูกน้อยเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนยามแก่ เจาะเลือดตรวจวิตามินดีพบ คนอายุ 18-24 ปีต่ำที่สุด แนะออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักเท้า กินอาหารที่แคลเซียม รับแสงแดดสร้างวิตามินดีพอเพียง

เตือนนั่งเล่นคอมพ์-หลบแดด-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงกระดูกพรุนยามแก่
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์
        วันนี้ (21 ม.ค.) รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภาวะกระดูกพรุนเกิดจากที่มวลกระดูกลดลงเกินกว่า 30% ซึ่งการป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุจะต้องเริ่มต้นดูแลตั้งแต่วัยเด็ก คือ สร้างมวลกระดูกตั้งแต่วัยเด็กให้มากพอ ด้วยการให้เด็กมีการวิ่งเล่นที่ออกแรงลงน้ำหนักที่เท้า กระโดดโลดเต้น รับแสงแดดยามเช้าเพื่อรับวิตามินดี รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ ซึ่งการสร้างมวลกระดูกจะสร้างไปจนถึงอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีมวลกระดูกสุงสุด จากนั้นจะลดลงประมาณ 0.3-0.5% ต่อปี ซึ่งการจะลดลงเกิน 30% ต้องใช้เวลาถึง 60 ปี แต่ที่ต้องระวังคือปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้มวลกระดูกลดลงเร็วกว่าปกติ
       
       รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงอย่างอื่นคือ การหมดประจำเดือนของผู้หญิงจะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายลดลง ทำให้มวลกระดูกลดลงและเป็นภาวะกระดูกพรุนได้ง่ายและเร็ว โดยเฉลี่ยจะพบภาวะกระดูกในผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ใน 3 ขณะที่ผู้ชายพบน้อยกว่า โดยในอายุ 70 ปีขึ้นไปจะพบราว 1 ใน 4 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการรับประทานยาบางตัวที่มีผล หรือการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมน้อย ไม่ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด
       
       "การสังเกตอาการว่าเริ่มเป็นภาวะกระดูกพรุนคือ หากมีการล้มแล้วกระดูกหักง่าย เช่น ข้อมือ ตัวเตี้ยหรือหลังค่อมลง ปวดหลัง เป็นสัญญาณอันตรายว่ากระดูกสันหลังเริ่มยุบตัวลง ที่อันตรายคือหากกระดูกสะโพกหัก จะทำให้เดินไม่ได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึงอาจไม่มีความพร้อมในการผ่าตัด ซึ่งอัตราตายจากการที่สะโพกของผู้ที่กระดูกพรุนในผู้สูงอายุ พอๆกับอัตราตายจากมะเร็งเต้านม" รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าว
       
       รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งคือมวลกล้ามเนื้อลดลงในผู้สูงอายุ ซึ่งยิ่งอายุมากกล้ามเนื้อยิ่งถดถอย ซึ่งจะทำให้ยกของหนักไม่ค่อยได้ ทั้งนี้ หากมวลกล้ามเนื้อลดลงเกินกว่า 30% ถือว่ามีภาวะมวลกระดูกพร่อง ทำให้การทรงตัวไม่ดี หกล้มและเสี่ยงกระดูกหักได้ การรักษาในผู้สูงอายุ อาจให้มีการยกน้ำหนักบ้างเล็กน้อย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น ปั่นจักรยาน หรือเดิน เป็นต้น
       
       "ทุกวันนี้จะพบว่าเด็กเอาแต่เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ตอยู่แต่เฉพาะหน้าคอมพิวเตอร์ หรือหลบอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน โดยไม่ได้รับแสงแดดที่เหมาะสม หากมีพฤติกรรมเช่นนี้เมื่อสูงวัยขึ้นมีโอกาสเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนสูงกว่ากลุ่มเด็กที่ได้วิ่งเล่น รับแสงแดด ทั้งนี้ มีการศึกษาของ รพ.รามาธิบดี ที่ทำการเจาะเลือดวัดปริมาณวิตามินดี พบว่า คนอายุ 18-24 ปีต่ำที่สุด อาจเป็นเพราะไม่ถูกแดด ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน" รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าว
       
       รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการป้องกันก็ต้องลดปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดที่กล่าวมา คือรับแสงแดดสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีแคลเซียม ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และออกกำลังกาย ในลักษณะแบบลงน้ำหนักเท้าแตะพื้น เนื่องจากแรงที่ลงน้ำหนักจะสะท้อนส้นเท้าผ่านเชิงกรานไปกระดูกสันหลังทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ แรงสั่นสะเทอนยังไปกระตุ้นสารในร่างกายให้หลั่งสารที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้นด้วย โดยคนทั่วไปควรออกกำลังกายประมาณ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 20-30 นาที ส่วนวัยเด็กต้องมากกว่านี้คือ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 45 นาที ส่วนผู้หญิงถ้ารักษาการมีประจำเดือนจนถึงอายุ 50 ปี ก็จะช่วยให้เกิดภาวะกระดูกพรุนช้า
       
 1057
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์