พ.ร.บ.แรงงาน น่ารู้ ควรรู้ สำหรับคนทำงาน

พ.ร.บ.แรงงาน น่ารู้ ควรรู้ สำหรับคนทำงาน

เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
 
        เรื่องแรกที่หลายคนสงสัยและอยากรู้คงหนีไม่พ้นเรื่องสิทธิประโยชน์ในการได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

 
1. ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จะได้รับเงินชดเชยดังนี้


          ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน

          ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน

          ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน

          ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน

          ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
 
2. ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับเงินชดเชย มีสาเหตุดังนี้

             ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดทางอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง

          จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

          ประมาทเลินเล่อ จนนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

          ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของนายจ้าง โดยได้รับหนังสือเตือนแล้ว หรือหากเป็นกรณีร้ายแรงก็ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเตือน (หนังสือเตือนมีอายุ 1 ปีนับจากวันที่ทำผิด ไม่ใช่วันที่ได้รับ)

          หยุดงานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร (ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม)

          ได้รับโทษหรือได้รับคำพิพากษาให้จำคุก

            การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา หรือสัญญาที่แน่นอน เช่น การเซ็นสัญญาจ้าง 2 ปี เป็นต้น
 
3. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ในกรณีต่อไปนี้

        มีการย้ายสถานที่ทำงานซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของลูกจ้าง (นายจ้างต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน) ถ้าลูกจ้างไม่อยากย้าย สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างโดยได้รับเงินชดเชย 50% ของอัตราค่าชดเชยปกติ แต่หากไม่มีการบอกล่วงหน้า 30 วัน ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน

        การเลิกจ้างเนื่องจากต้องการปรับปรุงหน่วยงาน และกระบวนการต่าง ๆ หรือมีการนำเครื่องจักรมาใช้แทนพนักงาน ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 60 วัน หากนายจ้างไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน

        ในกรณีที่มีการเลิกจ้างเนื่องจากปรับปรุงหน่วยงาน และลูกจ้างทำงานติดต่อกันมาเกิน 6 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากเดิม อีก 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี โดยรวมแล้วไม่เกินอัตราค่าจ้างสุดท้าย 360 วัน (หากมีเศษไม่ครบ 1 ปี แต่มากกว่า 180 วัน ให้นับเป็น 1 ปี)
 
กฎหมายแรงงาน เวลาทำงาน
 
1. กำหนดเวลาในการทำงาน

 
          กำหนดให้ลูกจ้างทำงานไม่เกิน 6 วันต่อสัปดาห์

          เวลาทำงานปกติในสายงานทุกประเภท ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

          หากมีวันที่ทำงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมง ให้นำเวลาไปสมทบกับวันทำงานปกติวันอื่นได้ แต่ต้องไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมง และไม่เกิน48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
 
2. กำหนดเวลาการทำงานของสายงานเฉพาะ

 
          งานที่อันตรายต่อสุขภาพตามกฎกระทรวงแรงงาน ให้ทำงานวันละไม่เกิน 7 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

          งานขนส่งทางบก สำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะ ห้ามไม่ให้มีการทำงานในวันถัดไปก่อนครบ 10 ชั่วโมงหลังจากทำงานครั้งสุดท้าย

          งานปิโตรเคมี สามารถทำงานได้วันละไม่เกิน 12 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
 
3. กำหนดเวลาพัก
 
          เวลาพักระหว่างวันทำงาน ต้องติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน
 
กฎหมายแรงงาน ล่วงเวลา

 
        1. ลูกจ้างที่ต้องทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ต้องได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราจ้างปกติต่อชั่วโมง

        2. ลูกจ้างที่ต้องทำงานในวันหยุด ต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราจ้างปกติ

        3. ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าล่วงเวลา

          ตำแหน่งผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หัวหน้า

          งานขนส่ง

          งานขบวนจัดการถไฟ

          งานปิด-เปิดประตูระบายน้ำ

          งานอ่านระดับน้ำ หรืดวัดปริมาตรน้ำ
 
          งานเฝ้าสถานที่หรือดูแลทรัพย์สิน

          งานนอกสถานที่โดยสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนได้

4. ห้ามนำหนี้อื่นมาหักล้างค่าล่วงเวลา เช่น นายจ้างจะหักเงินค่าล่วงเวลาแทนหนี้ที่ลูกจ้างติดค้างอยู่ไม่ได้
 
กฎหมายแรงงาน วันหยุด

 
          วันหยุดประจำสัปดาห์ จะต้องมีวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 วันในแต่ละสัปดาห์ หรืออาจมีการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ออกไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

          วันหยุดประจำปี ต้องไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน รวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย และต้องประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี หากตรงกับวันหยุดก็ให้ชดเชยในวันทำงานถัดไป

          วันพักร้อน เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ต้องได้สิทธิ์พักร้อน ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน
 
กฎหมายแรงงานวันลาป่วย
 
           ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้เท่ากับวันที่ป่วยจริง แต่ไม่เกิน 30 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้าง

          หากมีการลาป่วยติดต่อกัน 3 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์

            ลาคลอดได้ไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 45 วัน

          ลาเพื่อทำหมันได้ทุกครั้งที่แพทย์วินิจฉัยให้หยุด โดยได้รับค่าจ้าง

          หญิงมีครรภ์ที่ทำงานตำแหน่งเดิมไม่ไหว สามารถขอเปลี่ยนงานชั่วคราวในช่วงก่อนหรือหลังคลอดได้ โดยต้องมีใบรับรองแพทย์
 
กฎหมายแรงงาน ลากิจ

 
          ลูกจ้างสามารถลากิจได้หากมีกิจธุระจำเป็น แต่จะไม่ได้รับค่าจ้างในวันลา

            ลาเข้ารับราชการทหารได้ไม่เกินปีละ 60 วัน โดยได้รับค่าจ้าง

          ลาเพื่อฝึกอบรมสามารถลาได้ตามกฎกระทรวง แต่จะไม่ได้รับค่าจ้างในวันลา
 
กฎหมายแรงงาน วันพักร้อน
 
          ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี จะได้รับสิทธิ์ลาพักร้อนไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน

          ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างในวันลาพักร้อน
 
          หากทำงานยังไม่ครบ 1 ปี ลูกจ้างอาจได้รับวันหยุดตามสัดส่วนได้

          นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันเพื่อสะสมวันหยุดพักร้อนไปรวมกับวันหยุดได้ปีอื่นได้
 
ค่าจ้าง กฎหมายแรงงาน
 
            ค่าจ้าง หมายถึงอัตราค่าตอบแทนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแบบรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรืออื่น ๆ โดยอาจคำนวณตามผลงานที่ทำโดยมีรายละเอียดดังนี้
 

          ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันกำลังปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน

          วันหยุดประจำปี วันหยุดประจำสัปดาห์ วันลาป่วย และวันลาพักร้อน ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้าง

          วันลาอื่น ๆ ลูกจ้างจะมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างตามกำหนดของแต่ละชนิดวันลา เช่น ลาคลอด ได้รับค่าจ้าง 45 วัน, ลารับราชการทหาร ได้รับค่าจ้าง 60 วัน เป็นต้น
 
กฎหมายแรงงานเด็ก

 
           ห้ามนายจ้าง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง

          หากจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน และเมื่อเลิกจ้างต้องแจ้งภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน

          ต้องมีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ภายใน 4 ชั่วโมงแรกของการทำงาน และมีเวลาพักย่อยตามที่นายจ้างกำหนด

          ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในช่วงเวลา 22.00 – 06.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี

          เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามทำงานล่วงเวลา

เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามทำงานดังต่อไปนี้

         • งานหลอม เป่า หล่อ รีด ปั๊มโลหะ
         • งานกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่อาจเป็นอันตรายตามกฎกระทรวง
         • งานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย
         • งานเกี่ยวกับจุลชีวะเป็นพิษ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และอื่น ๆ
         • งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ เช่น ระเบิด วัตถุไวไฟ โดยยกเว้นงานในสถานีบริการน้ำมัน
         • งานบังคับหรือยกปั้นจั่น
         • งานใช้เลื่อย
         • งานใต้ดิน ในน้ำ อุโมงค์ ถ้ำ หรือปล่องภูเขา
         • งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี
         • งานทำความสะอาดเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่กำลังทำงาน
         • งานบนนั่งร้านสูงกว่า 10 เมตรขึ้นไป
         • งานอื่น ๆ ตามกฎกระทรวง

เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามทำงานในสถานที่ต่อไปนี้

         • โรงฆ่าสัตว์
         • สถานที่เล่นการพนัน
         • สถานที่เต้นรำ
         • สถานบริการ
         • สถานมึนเมา
         • และอื่น ๆ ตามกฎกระทรวง

          ค่าจ้างของแรงงานเด็กห้ามจ่ายให้กับบุคคลอื่น

          ห้ามนายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างที่เป็นเด็ก

          เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิ์ลาเพื่อทำกิจกรรมกับสถานศึกษา และได้รับค่าจ้าง โดยรวมแล้วไม่เกิน 30 วันต่อปี
 
ข้อยกเว้น กฎหมายแรงงาน
 
          แม้ว่าลูกจ้างจะต้องได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายแรงงาน แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้าง ดังนี้

 
        1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดทางอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

        2. จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

        3. ประมาทเลินเล่อ จนนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

        4. ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของนายจ้าง โดยได้รับหนังสือเตือนแล้ว หรือหากเป็นกรณีร้ายแรงก็ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเตือน (หนังสือเตือนมีอายุ 1 ปีนับจากวันที่ทำผิด ไม่ใช่วันที่ได้รับ)

        5. หยุดงานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร (ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม)

        6. ได้รับโทษหรือได้รับคำพิพากษาให้จำคุก

        7. การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา หรือสัญญาที่แน่นอน เช่น การเซ็นสัญญาจ้าง 2 ปี เป็นต้น
 
             และนี่ก็คือข้อมูลคร่าว ๆ ของกฎหมายแรงงานที่คนทำงานควรรู้ จะได้ไม่เสียสิทธิ์และเข้าใจกับนโยบายต่าง ๆ ของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ให้มากขึ้นด้วยนะคะ ส่วนใครที่อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านมาตราต่าง ๆ ของกฎหมายแรงงานได้ที่ labour.go.th เลยจ้า
 
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
labour.go.th

 

 17236
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์