วิธีสร้างความมั่นคงทางการเงินก่อนถึงวัยเกษียณอายุ สำหรับวัยกลางคนที่ต้องการสร้างฐานะมั่นคงก่อนที่จะเข้าสู่วัยเกษียณ เรามาเตรียมพร้อมกันตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ
ชีวิตหลังวัยเกษียณ…แม้จะอยากหยุดเวลาไว้ตรงนี้ ทว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องเดินไปถึงจุดที่ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำงานหาเงินด้วยตัวเองอีกต่อไป กลายเป็นคุณตา-คุณยายที่ดูแลต้นไม้และหลาน ๆ อยู่กับบ้าน แต่ถึงแม้จะดูไม่ค่อยมีอะไรให้ทำนัก ก็ใช่ว่าเกษียณไปแล้วจะสบายนะคะ เพราะไหนจะต้องกังวลกับเรื่องสุขภาพของตัวเอง ภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ก็รออยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ดังนั้นเพื่อความสุขในบั้นปลายของชีวิต เรามาเริ่มเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณแบบคนมีอันจะกินตามวิธีต่อไปนี้กันเถอะ
1. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
ถ้าคุณไม่รู้จะเริ่มวางแผนการเงินในอนาคตอย่างไรให้มีเหลือใช้ในวัยเกษียณ ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่เบาค่ะ เพราะนอกจากเขาจะช่วยแนะนำให้คุณแบ่งสันปันส่วนเงินของตัวเองให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคุณแล้ว การติดต่อเพื่อพูดคุยถึงแผนการเงินกันเป็นประจำยังช่วยให้เราอัปเดตสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองอยากถูกทิศทางมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะคนที่ลงทุนทางการเงินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
2. เก็บออมให้เป็นนิสัย
อยากมีเงินก็ต้องรู้จักเก็บออม หลักการง่าย ๆ ของคนมีเงินเก็บที่ไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมากมากเลยค่ะ แค่มีความตั้งใจจริงในการออมเงินเท่านั้น ทว่าหากใครเก็บเงินไม่เคยสำเร็จสักที อาจเปิดบัญชีเงินฝากประจำทิ้งไว้ ตั้งกฎการเก็บเงินให้ตัวเอง อย่างไม่ใช้แบงก์ 50 บาท หรือเก็บแต่เหรียญ 10 บาทเอาไว้หยอดกระปุก เชื่อไหมคะว่าเพียงแค่นี้คุณก็มีเงินเก็บส่วนหนึ่งได้แล้ว แถมยังเป็นแรงบันดาลใจให้รู้สึกฮึดที่จะเก็บออมเงินมากขึ้นอีกด้วย
3. คำนวณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับวัยเกษียณ
การเก็บเงินที่จะถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุดต้องมีการวางแผนเก็บออมเงินด้วย อย่างเช่น คำนวณค่าใช้จ่ายที่น่าจะเกิดในช่วงชีวิตวัยเกษียณ ซึ่งควรจะครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพของตัวเอง คู่สมรส คนในครอบครัว, ค่าใช้จ่ายในส่วนของประกันชีวิต, ค่าใช้จ่ายทั่วไป และค่าใช้จ่ายในส่วนความบันเทิง เป็นต้น
4. เข้าร่วมนโยบายออมเงินหลังเกษียณ
หากว่าบริษัทที่คุณทำงานอยู่มีนโนบายออมเงินหลังเกษียณ อย่าลังเลที่จะเข้าร่วมเลยนะคะ เพราะอย่างน้อยยอมใช้จ่ายอย่างประหยัดในตอนนี้เพื่อกันเงินเอาไว้เก็บออม ก็ช่วยให้เราก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอย่างสบายใจมากขึ้น
5. ศึกษาระบบเงินบำนาญ
หากคุณเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจมีเงินก้อนหลังเกษียณอายุที่เรียกกันว่า เงินบำเหน็จบำนาญ ซึ่งก็ควรวางแผนจัดการเงินในส่วนนี้ให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่าและครอบคลุมมากที่สุด ที่สำคัญควรต้องศึกษาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญอย่างละเอียดไว้ด้วย
6. ดูรีวิวชีวิตหลังการเกษียณของรุ่นพี่
เชื่อว่าหลายคนยังนึกถึงวันที่เกษียณอายุไม่ออก จนบางทีก็ไม่รู้จะเริ่มต้นหรือต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณยังไงบ้าง ดังนั้นทางที่ดีลองเรียนรู้จากประสบการณ์ของรุ่นพี่ดีไหมคะ แนะนำว่าควรเลือกดูหลาย ๆ กรณีด้วย เผื่อจะฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าต้องแบ่งเงินไว้ใช้จ่ายเป็นค่าอะไรบ้าง
7. ออมเงินเป็นทีม
ถ้าคิดว่าการออมเงินเพียงลำพังไม่มีแรงบันดาลใจเท่าไร เอาเป็นว่าลองชวนเพื่อน ๆ มาออมเงินเป็นทีมกันดีกว่า โดยอาจจะตั้งกฎเกณฑ์ในการออมเงิน เช่น หากใครเบี้ยวนัดออมเงินต้องจ่ายเพิ่ม 10% ในเดือนถัดไป และต้องเป็นฝ่ายเลี้ยงข้าวเพื่อน ๆ ทั้งทีมเพื่อสร้างสีสันให้การออมเงินของเราน่าสนุกขึ้นด้วยก็ได้
8. มีวินัยในการออมเงิน
เหนือสิ่งอื่นใดคุณต้องสร้างวินัยในการออมเงินให้ตัวเอง อย่าได้เผลอหยิบเงินส่วนที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณมาจับจ่ายก่อนเวลาของมันโดยเด็ดขาด
แม้ว่าเงินจะไม่ใช่พระเจ้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่อำนวยความสะดวกสบายให้เราในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะออมเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ หรือจะเป็นการเก็บเงินทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเป้าหมายวางไว้ ยังไงก็ถือว่าดีต่อชีวิตในอนาคตของคุณแน่นอน