6 วิธีสร้างกำลังใจให้กับลูกน้องที่หมดไฟ

6 วิธีสร้างกำลังใจให้กับลูกน้องที่หมดไฟ

6 วิธีสร้างกำลังใจให้กับลูกน้องที่หมดไฟ | SoftBankThai ธนาคารซอฟท์แวร์

 

 

ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทำงานหรือพนักงานในออฟฟิศที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายในงานที่ทำ เพราะความซ้ำซากจำเจและใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ทุกวัน ที่เช้าก็ต้องรีบตื่นมาทำงานให้ทันเวลา เที่ยงก็ออกไปกินข้าว ตกเย็นก็กลับบ้านแบบนี้ทุกวันจนก้าวสู่แรมเดือนต่อเนื่องเป็นแรมปีึ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนเราย่อมต้องเบื่อหน่ายกันบ้างหากต้องพบเจอแต่สิ่งเดิมๆ อยู่ทุกวัน แต่เมื่อเกิดกับการทำงานในบริษัทยิ่งเป็นเรื่องอันตรายมากพอสมควร

 

       ความสำเร็จของบริษัทส่วนหนึ่งก็วัดกันที่ความสามารถของพนักงาน จะเกิดผลเสียขนาดไหนหากจู่ๆ ลูกน้องของเราเกิดขาดแรงจูงใจในการทำงานขึ้นมาเสียเฉยๆ ดังนั้นเราจึงควรศึกษาหาวิธีการแก้ไขสถานการณ์เมื่อลูกน้องเกิดหมดไฟและขาดแรงจูงใจไว้บ้าง เผื่อว่าจะได้ช่วยพนักงานได้หากเกิดเหตุการณ์หมดไฟจริงๆ

 

สำรวจปัญหาเป็นอันดับแรก

 

       การสำรวจปัญหาเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรก โดยการหาข้อมูลว่าทำไมลูกน้องคนดังกล่าวถึงหมดไฟในการทำงานมีปัญหาในเรื่องอะไรหรือเปล่า ทั้งในเรื่องส่วนตัว หรือปัญหาในสถานที่ทำงานและปัญหากับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ เกี่ยวข้องกับหน้าที่ในการทำงานในส่วนไหนหรือไม่อย่างไร เช่น หน้าที่ที่คุณมอบหมายให้ไม่ใช่สิ่งที่ชอบและถนัดของพนักงานคนดังกล่าว เลยทำให้ไม่มีใจในสิ่งที่ทำจนเป็นเหตุให้หมดไฟในการทำงานในที่สุด ซึ่งวิธีการสำรวจหาต้นกำเนิดของปัญหานี้ทำได้ง่ายมาก โดยคุณผู้เป็นเจ้าของบริษัทต้องคอยหมั่นสังเกตและตรวจสอบพฤติกรรมของลูกน้องที่มีปัญหาคนดังกล่าวว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร หรือวิธีที่สองคือ การสอบถามจากพนักงานรายอื่นๆที่เป็นเพื่อนร่วมงานกันกับพนักงานคนดังกล่าว เมื่อทราบปัญหาแล้วจะได้ทำการแก้ปัญหาได้ถูกจุด โดยวิธีการแก้ปัญหาที่ลูกน้องหมดไฟในการทำงานมีดังต่อไปนี้

 

1. พูดคุยและให้กำลังใจ

 

       การพูดคุยและให้กำลังใจพนักงานเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด เพียงเจ้าของกิจการหรือนายจ้างเดินเข้าไปสอบถามและพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อยากให้ช่วยเหลือส่วนไหนบ้าง ก็จะช่วยให้ลูกน้องคนดังกล่าวเกิดแรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้ทำงานอีกครั้งด้วยการพูดจาที่เป็นกันเอง แต่เราควรพึงระวังไว้สักนิดว่าการเข้าไปพูดคุยนั้น ควรเข้าไปในฐานะเพื่อนหรือผู้ร่วมงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทเดียวกันที่พร้อมจะให้ความเข้าใจและช่วยเหลือในทุกเรื่อง ไม่ควรจะเข้าไปในฐานะเจ้านายกับลูกน้อง เพราะบางทีอาจยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นก็เป็นได้

 2. ย้ายแผนก

        การย้ายแผนกนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่แรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดมาจากการที่เราไปสืบทราบมาว่าแผนกในปัจจุบันที่ลูกน้องคนดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดเป็นพิเศษแต่อย่างใด จึงสมควรที่จะย้ายไปยังตำแหน่งที่มีความเหมาะสมมากกว่านี้ หรือหากเกิดจากความขัดแย้งกับพนักงานคนอื่นๆ ในแผนกก็สามารถที่จะย้ายไปทำงานยังแผนกอื่นได้ แต่ควรต้องแน่ใจให้ดีเสียก่อนว่าพนักงานคนดังกล่าวจะไม่ไปสร้างปัญหายังแผนกอื่นอีก

 3. เปลี่ยนบรรยากาศ จัดที่ทำงานใหม่

  

       วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ดีมากอีกวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ลูกน้องได้ดี เพราะการเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ จัดสถานที่ภายในห้องทำงานใหม่ให้รับกับบรรยากาศภายนอกจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ช่วยลดความเบื่อหน่ายและซ้ำซากจำเจในเวลาทำงานที่อยู่ในสถานที่แบบเดิมๆได้ดีทีเดียว

 4. ส่งไปอบรมสัมมนา

        การส่งไปอบรมสัมมนาตามงานต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็นวิธีการแก้ไขที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะการส่งพนักงานไปอบรมสัมมนาจะช่วยสร้างความรู้ให้ตัวพนักงานเอง ถือเป็นการเปิดหูเปิดตาของพนักงานเพื่อนำมาสร้างไอเดียและแรงจูงใจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และจะได้นำความรู้ที่ได้จากการสัมมนามาใช้ทำงานของตัวเองและจะมีส่วนต่อการพัฒนาบริษัทในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลทางจิตวิทยาต่อตัวพนักงานเองด้วย เพราะการถูกส่งไปในนามบริษัทจะทำให้พนักงานคนดังกล่าวเห็นว่าตัวเองมีความสำคัญกับทางบริษัทมากขนาดไหนด้วย

 5. ขึ้นเงินเดือน

        หากเปรียบวิธีการแก้ปัญหาลูกน้องหมดไฟในการทำงานเป็นยาชนิดต่างๆ แล้ว 4 วิธีก่อนหน้านี้จะเป็นเพียงแค่ยาเม็ดใช้ทานเท่านั้น แต่วิธีการแก้ปัญหาลูกน้องหมดไฟด้วยการขึ้นเงินเดือนจะถือเป็นยาฉีดเข้าไปสู่เส้นเลือดใหญ่โดยตรง เป็นยาขนานแรงที่หลายบริษัทใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวและประสบความสำเร็จอย่างสูงมาโดยตลอด เพราะบ่อยครั้งที่พนักงานหมดไฟไม่อยากทำงานด้วยเห็นว่าตนเองทำงานหนักและเหนื่อยมากกว่าหลายเท่าตัวนักเมื่อเทียบกับเงินเดือนที่ได้ จึงเกิดความท้อถอยบ่อยครั้งและอาจมองหาสถานที่ทำงานใหม่อยู่ก็เป็นได้จึงทำงานให้เราได้ไม่เต็มที่นัก ซึ่งการขึ้นเงินเดือนอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกจุดนัก แต่ถือเป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 6. ให้ลาพักร้อน

        การให้ลูกน้องที่มีปัญหาหมดไฟได้ลาพักร้อนไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว แบบมีกำหนดหรือไม่มีกำหนดก็ตาม เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบสุดท้ายที่พึงกระทำได้สำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ การให้ลูกน้องลาพักร้อนก็เพื่อให้ได้พักผ่อนเต็มที่จากการทำงาน เปรียบเสมือนการได้ชาร์จไฟไปในตัวหลังจากเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ามาจากการทำงานตลอดเวลาอันยาวนาน และอาจทำให้พนักงานคนดังกล่าวได้คิดทบทวนสร้างทัศนคติใหม่ๆ ที่ดีในการทำงานก็เป็นได้ การเข้าไปพูดคุยเรื่องลาพักร้อนกับลูกน้องควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจสร้างความเข้าใจผิดก็เป็นได้

 

       บางครั้งการหมดไฟในการทำงานของลูกน้องอาจมาจากสาเหตุที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาก็คือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น ควรสร้างแรงจูงในการทำงานให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะให้ผลการทำงานของลูกน้องออกมาดีอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น แต่สำหรับลูกน้องบางคนอาจมีวิธีการแก้ปัญหาง่ายกว่าที่คิด เพียงแค่ต้องให้ความเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานที่เจ้านายพึงจะมีกับลูกน้อง เรื่องดังกล่าวก็อาจไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้

 

6 วิธีสร้างกำลังใจให้กับลูกน้องที่หมดไฟ | SoftBankThai ธนาคารซอฟท์แวร์

 

 

 

 

 1922
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์