กม.ประกันสังคมฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์น้อย ไร้ คกก.ตรวจสอบกองทุน

กม.ประกันสังคมฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์น้อย ไร้ คกก.ตรวจสอบกองทุน

 กลุ่มคนรักหลักประกันเผย ร่าง กม.ประกันสังคมฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ไม่มาก พบไร้ คกก. ลงทุน และ คกก. ตรวจสอบกองทุน แต่เปิดโอกาสให้ ปชช. มีส่วนร่วมในทุกอนุกรรมการ พ่วง คกก. การแพทย์ 

        วันนี้ (25 พ.ย.) น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงกรณีผลวิจัยสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมด้อยกว่าสิทธิอื่น ว่า เดิมทีผู้ประกันตนมักคิดว่าได้รับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ดีกว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ อย่างการอุดฟัน ขูดหินปูน หรือถอนฟันยังมีเงื่อนไขเบิกได้ไม่เกินปีละ 600 บาท ขณะที่บัตรทองสามารถรับบริการได้ตลอด จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงสะท้อน สำหรับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ที่กำลังร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ เพื่อปรับปรุงเรื่องต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก่อนจะเสนอกลับเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
       
       “พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ก็ไม่ได้เพิ่มเรื่องสิทธิประโยชน์มากนัก มีเพียงบางข้อ เช่น ต้องครอบคลุมการรักษาผู้ประกันตนที่ฆ่าตัวตาย ซึ่งเดิมไม่มี และมีการเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในอนุกรรมการต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการการแพทย์ของประกันสังคม แต่ขณะนี้ก็มีคนเสนอว่า ควรให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการต่างๆ ของ สปส. ด้วย เพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใส โดยต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนทั่วประเทศมีสิทธิเลือก เหมือนการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
       
       น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ที่น่าเสียดายคือ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่มีการระบุหลักการสำคัญคือ การกำหนดคณะกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการการตรวจสอบกองทุนหรือการทำงานต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันในกฎหมายประกันสังคมก็ไม่มี ในเรื่องการลงทุนก็เป็นเพียงตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้ควรมีการตั้งคณะกรรมการออกมาให้ชัด และแยกออกเป็นอิสระ เพื่อการทำงานคล่องตัว ประกอบกับต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานที่เป็นอิสระ และมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตรงนี้กำลังพิจารณาว่าอาจมีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้เพิ่มเรื่องดังกล่าวเข้ามาเพิ่มเติม แต่คงต้องมีการหารือกันก่อน
       
       ด้าน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบประกันสังคมนั้น ที่เป็นปัญหาน่าจะมาจากผู้ประกอบการที่ยังขาดความเข้าใจคิดว่า ผู้ติดเชื้อทำงานไม่ได้ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เรื่องนี้อยากให้ภาครัฐทำความเข้าใจ เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตด้วย
 744
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์