สปส. พร้อมยกเครื่อง 5 เรื่องของสิทธิประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจ้งการให้สิทธิในประเด็นที่เครือข่ายผู้ประกันตนจะให้ยกเครื่อง 5 เรื่องของสิทธิประกันสังคม ให้กับผู้ประกันตนในการได้รับสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อสร้างระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน
ดร.อำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ ให้สัมภาษณ์ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ 5 เช้าข่าวใหญ่ ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ถึงสิทธิประโยชน์ 5 เรื่องของประกันสังคมที่ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างไร พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยระเบียบและข้อกฎหมายประกอบ กล่าวคือ
- กรณีคลอดบุตร เดิมสำนักงานประกันสังคมได้เหมาจ่ายค่าคลอดบุตรเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท ต่อครั้ง ปัจจุบันได้ปรับสิทธิประโยชน์การคลอดบุตรเพิ่มเป็น 13,000 ต่อครั้ง
- กรณีทันตกรรม สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มขยายความคุ้มครองสิทธิกรณีทันตกรรม มาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ และอัตราค่าบริการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสิทธิกรณีทันตกรรมครอบคลุมทั้งการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าตัดฟันคุด รวมถึงค่าฟันเทียม
- กรณีการบำบัดสารเสพติด ขยายความคุ้มครองสนับสนุนสารเมทาโดนให้กับผู้ประกันตนที่ติดสารเสพติดเฉพาะกลุ่มฝิ่น และอนุพันธ์ของฝิ่น โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการบำบัดรักษา ในสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
- กรณีผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด สำนักงานประกันสังคม ให้ความคุ้มครองดูแล พร้อมพิจารณาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติม เพื่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพแก่ผู้ประกันตน
- กรณีทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย สำนักงานได้เสนอแก้ไขกฎหมาย ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2545 ทั้งนี้จะติดตามเร่งรัดให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายโดยเร็วต่อไป
สำนักงานประกันสังคมมิได้นิ่งเฉย พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับประกันตนอย่างต่อเนื่อง
ให้ได้รับความคุ้มครอง ครอบคลุม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้หลักประกันชีวิตของกองทุนประกันสังคมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ล่าสุดประกันสังคมเพิ่มเติมความคุ้มครองกรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกันได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไตและในครั้งนี้ได้ขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วย ที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต และโรคตับเรื้อรังระยะสุดท้ายอีกด้วย
หากนายจ้างและผู้ประกันตนมีข้อสงสัย มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ / จังหวัด / สาขาที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ให้บริการ 24 ชั่วโมง
-----------------------------------------------------
ศูนย์สารนิเทศ สอบถามประกันสังคม โทร. 1506 www.sso.go.th