เช็กสิ..คุณมีสุขภาพการเงินที่ดีแล้วหรือยัง !?

เช็กสิ..คุณมีสุขภาพการเงินที่ดีแล้วหรือยัง !?

  

 

 

 สุขภาพการเงินที่ดี เริ่มจากการไม่มีหนี้มากจนเกินไป มีเงินใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน และมีวินัยทางการเงิน

        หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงหาซื้อไม่ได้ หากอยากได้ต้องสร้างเอง ก็คงไม่ต่างกับการมีสุขภาพการเงินที่ดีที่หาซื้อไม่ได้เช่นกัน เพราะต้องเกิดจากการมีวินัยทางการเงินที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีรายได้มากหรือน้อย เพราะแม้ว่าจะมีรายได้มากมายแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน ก็สามารถประสบปัญหาทางการเงินได้ ในทางกลับกัน แม้ว่าจะมีรายได้ไม่สูงมาก แต่หากมีวินัยในการใช้จ่ายเงินที่ดี มีเป้าหมาย รู้จักวางแผน และไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย ก็สามารถมีสุขภาพการเงินที่ดีได้ ดังนั้นลองมาเช็กสุขภาพการเงินของตัวเองง่าย ๆ ด้วยการตอบคำถามเหล่านี้ดูว่า..เรามีสุขภาพการเงินที่ดีแล้วหรือยัง ?
     
 ข้อ 1 ทุกวันนี้มีเงินใช้สบาย ๆ แบบที่ไม่มีหนี้ท่วมหัว ใช่หรือไม่

        หากตอบว่าใช่ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แสดงว่าเรามีเงินใช้แบบไม่ขัดสน ไม่มีภาระหนี้สินมากมายที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือน ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น มีความสุข

        แต่หากตอบว่าไม่ใช่ แสดงว่าเรามีปัญหาสุขภาพการเงินแล้ว เช่น มีทั้งหนี้บ้าน และหนี้บัตรเครดิตที่ต้องผ่อนจ่ายในแต่ละเดือนจำนวนมาก จนไม่มีเงินเหลือใช้ หรือเหลือเก็บเลยในแต่ละเดือน ดังนั้นคำแนะนำในเบื้องต้นคือ ให้โปะเงินเพิ่มทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น นำเงินโบนัส หรือเงินที่ได้จากการหารายได้พิเศษมาโปะเพิ่ม เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่มีให้น้อยลง และยังช่วยให้ภาระหนี้สินของเราหมดเร็วขึ้นอีกด้วย

        หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีหนี้มากเกินไปหรือไม่ สำหรับภาระผ่อนหนี้ในแต่ละเดือนนั้นต้องไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน เช่น มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท ก็ไม่ควรผ่อนหนี้เกิน 30% ของรายได้คือ 4,500 บาทต่อเดือน จึงจะถือว่ามีหนี้ไม่มากจนเกินไป สามารถผ่อนชำระไหวในแต่ละเดือน 

        สำหรับคนที่ผ่านข้อแรกมาอย่างสบาย ๆ ลองมาตอบคำถามข้อต่อไปกันเลย
 
 ข้อ 2 เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องใช้เงิน ก็มีเงินสำรองเพียงพอไว้ใช้จ่าย ใช่หรือไม่

        หากตอบว่าใช่ ถือว่าเราได้ก้าวผ่านมาอีกหนึ่งขั้นแล้ว ซึ่งหมายความว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เช่น มีคนในครอบครัวเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุ จำเป็นต้องใช้เงินก้อนอย่างเร่งด่วน ก็มีเงินสำรองไว้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเหล่านั้นทันที โดยไม่ต้องวิ่งไปยืมเงิน หรือกู้เงินคนอื่นมาใช้

        แต่หากตอบว่าไม่ใช่ แสดงว่าสุขภาพการเงินเรายังไม่แข็งแรงดีพอ ชีวิตเรายังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ดังนั้นคำแนะนำคือ ควรมีเงินสำรอง 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน เช่น เรามีรายจ่ายอยู่ที่ 5,000 บาทต่อเดือน ก็ควรมีเงินสำรองประมาณ 30,000 บาท เพื่อความอุ่นใจ หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะได้นำเงินส่วนนี้มาใช้ได้ทันท่วงที

        สำหรับเงินสำรอง 6 เท่าของรายจ่ายนี้ แนะนำให้ออมเงินไว้ในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากมีสภาพคล่องสูง และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยผลตอบแทนอยู่ที่ 2-3% ต่อปี และหากต้องการใช้เงินก็สามารถขายกองทุน โดยจะได้รับเงินในวันทำการถัดไป

        มาถึงตรงนี้คงพอจะรู้กันแล้วว่า สุขภาพการเงินของเราเป็นอย่างไร หากสุขภาพการเงินของใครอยู่ในเกณฑ์ดีก็ถือว่าโชคดีไป และพยายามรักษามาตรฐานที่ดีนี้ไว้ รวมถึงทำให้สุขภาพการเงินของเราแข็งแรงยิ่งขึ้นไป แต่หากใครตรวจพบว่าสุขภาพการเงินของตัวเองยังไม่ดีเท่าที่ควร ก็ให้รีบหาทางเยียวยาแก้ไขตามคำแนะนำที่ได้กล่าวไป ก่อนที่มันจะลุกลามใหญ่โต กลายเป็นเนื้อร้ายในอนาคต เชื่อว่าทุกคนสามารถมีสุขภาพการเงินที่ดีได้ ขอเพียงแค่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert

 1295
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์