Q: ที่โรงงาน ทำไมพนักงานรายวันทำ OT วันหยุดได้ 2 แรง ทำไมพนักงานรายเดือนได้ OT แค่เท่าเดียว? ไหนกฎหมายบอก OT ต้อง 1.5 เท่าไง?
A: ปัญหามันอยู่ที่วิธีการเรียกนั่นแหละครับ เพราะเวลาที่ทำงานนอกเหนือเวลาทำงานปกติ พวกเราเรียกเป็น OT กันหมดเลย แต่ในทางกฎหมายมันไม่ใช่อะไรแบบนั้นครับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 5 (3) ได้นิยามไอ้ที่เราเรียกว่า OT เหมือนๆ กัน ไว้เป็น 3 แบบนะครับ คือ
“ค่าล่วงเวลา” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
“ค่าทำงานในวันหยุด” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด
“ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ดีกว่า สมมติว่า นาย ก. เป็นพนักงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเวลาทำงานปกติที่ประกาศไว้คือ จันทร์ – เสาร์ เวลา 08:00 – 17:00 น. (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโรงงานทั่วไป) ฉะนั้น
- การทำงานหลังเวลา 17:00 น. ในวันจันทร์ – เสาร์ จะถือว่าเป็นการทำล่วงเวลา และจะต้องได้ค่าล่วงเวลา คิดเป็น 1.5 เท่าของค่าแรง
- การทำงานในวันอาทิตย์ วันหยุดประจำปี หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ ถือว่าเป็นการทำงานในวันหยุด และจะได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นค่าทำงานในวันหยุด ซึ่งพนักงานรายวันและรายเดือนจะได้แตกต่างกัน เพราะ
- พนักงานรายเดือน ปกติแล้วเพื่อจะได้คิดค่าล่วงเวลาง่ายๆ ค่าจ้างจะถูกกำหนดไว้เป็น [เงินเดือน/30 วัน] เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ก็เท่ากับ 1,000/วัน เป็นต้น ดังนั้นเวลามาทำงานในวันหยุดแบบนี้ กฎหมายเลยถือว่าเป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด (มาตรา 62 (1)) ดังนั้นนายจ้างก็แค่จ่ายค่าจ้างพิ่มขึ้นจากค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เช่น ถ้าทำเต็มๆ 8 ชั่วโมง ก็จ่ายเพิ่มอีก 1,000 บาท พอ
- พนักงานรายวัน ปกติแล้วถ้าไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง (แน่นอน หมายความว่าวันหยุดก็จะไม่ได้ค่าจ้าง) ก็เลยถือเป็นลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิรับค่าจ้างในวันหยุด (มาตรา 62 (2)) ดังนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ดังนั้นถ้าพนักงานรายวันมีค่าแรง 300 บาท/วัน เวลามาทำงานวันหยุด 8 ชั่วโมง ก็จะได้ค่าแรง 300 x 2 = 600 บาท/วัน ครับ
- การทำงานหลังเวลา 17:00 น. ในวันอาทิตย์ วันหยุดประจำปี หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ ถือเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าทำงานในวันทำงานปกติ (มาตรา 63) ทั้งพนักงานรายวัน และ รายเดือน