Any ID กับ พร้อมเพย์ โครงการใหม่จากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย

Any ID กับ พร้อมเพย์ โครงการใหม่จากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จัก Any IDกับ พร้อมเพย์ ว่าคืออะไร แล้วจะเกี่ยวข้องกับเรายังไง เพราะทั้งสองคำนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากนโยบายของรัฐบาลที่มองเห็นว่าในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคต เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศก็มีแนวคิดเกี่ยวกับ Digital Economy รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยมีระบบรองรับในเรื่อง Digital Economy นี้ กระทรวงการคลังจึงได้ผลักดันให้เกิด National e-Payment ขึ้นในประเทศไทย และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา

ดังนั้นคำว่า Any ID จึงได้เกิดขึ้นมาเนื่องจากถือได้ว่าเป็นโครงการที่ 1 ของ National e-Payment

เพราะ Any ID คือ ระบบการรับจ่ายโอนเงินแบบใหม่ โดยไม่ต้องใช้เลขบัญชีธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและทำให้ความผิดพลาดในการโอนเงินระหว่างบัญชีกันบ่อยครั้งหากมีการเขียนเลขที่บัญชีธนาคารไม่ถูกต้อง ดังนั้น Any ID จึงเข้ามาแทนที่ โดยการใช้เลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือสำหรับการระบุตัวตนของเรา เพื่อใช้สำหรับรับจ่ายโอนเงินจากบัญชีธนาคารของเรา โดยเราสามารถมี Any ID ได้สูงสุด 4 บัญชี คือ

  • เราสามารถผูกบัญชีเงินฝากธนาคารกับเลขที่บัตรประชาชนได้ 1 บัญชี
  • และอีก 3 บัญชีที่เหลือก็ให้ผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพราะบางครั้งเราอาจจะมีมือถือมากกว่า 1 เบอร์ เช่น เป็นเบอร์สำหรับค้าขาย เป็นเบอร์ส่วนตัว เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะเริ่มให้ลงทะเบียน Any ID ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป และเราจะสามารถเริ่มรับจ่ายโอนเงินผ่าน Any ID ได้ก็ประมาณเดือนกันยายน 2559 ตามแผนที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้วางกันเอาไว้

อ่านข่าวเพิ่มเติม  : เตรียมตัวเปิดระบบบัตรประชาชนแนวใหม่ Any ID Card


คราวนี้ก็มาถึงคำว่า พร้อมเพย์ หรือ Prompt-Pay กันบ้าง

โดยพร้อมเพย์นี้เป็นบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทศและธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมมือกันพัฒนาขึ้นมา เพื่อสนับสนุนระบบการชำระเงินแบบ Any ID ภายใต้โครงการ National e-Payment ซึ่งพร้อมเพย์นี้เป็นบริการที่จะช่วยให้ประชาชนและร้านค้า บริษัทต่างๆ สามารถโอนเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพียงแต่ใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือและบัตรประชาชนแทนการระบุเลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น โดยในระยะเริ่มแรกนี้โครงการพร้อมเพย์จะเริ่มใช้งานระหว่างบุคคลธรรมดาทั่วไปก่อน ส่วนการใช้ระบบพร้อมเพย์กับร้านค้าและบริษัทต่างๆ นั้น จะรอเป็นเฟสถัดไป รวมถึงในอนาคตการรับจ่ายเงินให้กับภาครัฐในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี การรับเงินภาษีคืน การชำระค่าปรับต่างๆ การรับเบี้ยยังชีพทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ก็ทำผ่านระบบพร้อมเพย์ด้วยเช่นกัน เพียงแต่เราต้องอดใจรอกันก่อน รอให้การใช้ระบบนี้กับบุคคลธรรมดาผ่านไปได้ด้วยดี หรือมีการแก้ไขปรับปรุงทั้งในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความปลอดภัยในการทำธรุกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนใช้งานอย่างเราๆ กันเสียก่อน

ส่วนข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่ระบบพร้อมเพย์ พร้อมจะมอบให้กับคนที่ต้องโอนเงินระหว่างธนาคารหรือจะโอนเงินในธนาคารเดียวกันแต่เป็นระหว่างจังหวัด เพราะระบบพร้อมเพย์ที่ว่ามานี้จะช่วยให้เราประหยัดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินต่างๆ ไปได้เยอะเลยทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เสียเลย ก็ต้องมีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินกันบ้าง คือ

  • ถ้าโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาทไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • วงเงิน 5,001-30,000 บาทคิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ
  • วงเงิน 30,001-100,000 บาทคิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ
  • วงเงินมากกว่า 100,000 บาทขี้นไปคิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ

ซึ่งก่อนที่จะมีระบบพร้อมเพย์ออกมานั้น การโอนเงินแต่ละครั้งธนาคารจะมีเงื่อนไขในการคิด คือ เป็นธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคาร บัญชีผู้โอนกับรับโอนอยู่ในเขตเดียวกันหรือไม่ หรือไม่ก็เป็นธนาคารเดียวกันแต่อยู่คนละจังหวัดก็มีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินด้วยจำนวนเท่าไรก็ตาม ดังนั้นเมื่อมีระบบพร้อมเพย์เข้ามาก็ถือได้ว่าช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ลดภาระค่าธรรมเนียมในการโอนเงินลงไปไม่มากก็น้อยกันเลยทีเดียว

ก่อนจากมาย้ำกันอีกทีว่าเราต้องลงทะเบียน Any ID และพร้อมเพย์ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไป แต่ก็มีบางธนาคารที่เปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่ 1 – 14 กรกฎาคม ซึ่งเราก็ลองติดต่อธนาคารที่เราธุรกรรมได้ ส่วนระบบพร้อมเพย์นั้นจะเริ่มใช้งานได้จริงๆ ประมาณเดือนกันยายน 2559 ก็ลองเข้าไปศึกษาและลงทะเบียนกันได้เลยที่ธนาคารที่เรามีบัญชีเงินฝากธนาคารและทำธุรกรรมกันเป็นประจำ

ขอบคุณบทความจาก : moneyhub.in.th

 2255
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์