เลือก แว่นสายตา อย่างไรดี?

เลือก แว่นสายตา อย่างไรดี?

ท่านที่มีอาการตามัว มองภาพไม่ชัด เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ว่าเกิดจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตายาวในผู้สูงอายุ จักษุแพทย์จะทำการวัดแว่นเพื่อหาค่าของสายตา (ค่าของกำลังเลนส์แว่นตา) และแนะนำให้ท่านใส่ แว่นสายตา เพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ทำให้เห็นได้ชัดเจนเป็นปกติ

จักษุแพทย์จะเขียนใบสั่งให้ท่านนำไปตัดแว่นกับช่างแว่นตาซึ่งท่านควรจะต้องมีความรู้อยู่บ้างในการเลือกกรอบแว่นและเลนส์แว่นตาที่เหมาะสม มีคุณภาพดี

กรอบแว่น

การเลือกกรอบแว่น เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ แว่นสายตา ท่านใส่ได้สบาย และใช้ประโยชน์ได้เต็มที่โดยมีหลักทั่วไปในการเลือกดังนี้

  • เลือกขนาดของกรอบแว่นให้เหมาะสมกับความหนาของเลนส์แว่นตา เช่น กรอบแว่นโลหะบางๆ ทรงรีขนาดเล็กมักจะบอบบางเกินไปที่จะใช้กับเลนส์ที่หนาและหนัก แต่กรอบแว่นที่ใหญ่เกินไปถ้าใช้กับเลนส์ที่หนักก็จะยิ่งทำให้เลนส์หนักมากขึ้น ใส่ไม่สบาย จึงควรเลือกกรอบให้มีขนาดปานกลาง
  • เลือกให้เหมาะกับชนิดของเลนส์แว่นตา เช่น โปรเกรสสีพเลนส์ (Progressive lenes ) ซึ่งเป็นเลนส์ที่ใช้ดูได้ทุกระยะโดยไม่มีรอยต่อถ้ากรอบขนาดเล็กเกินไปจะทำให้บริเวณเลนส์ส่วนที่ใช้ดูใกล้เหลือน้อย จึงควรเลือกกรอบที่ค่อนข้างใหญ่
  • เลือกกรอบแว่นที่ทำจากวัสดุที่มีคุณภาพดีน้ำหนักเบา คงทน แข็งแรง ไม่ลอก ไม่แพ้ เช่น กรอบแว่นที่ทำจากไททาเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติดังกล่าว แต่มีราคาค่อนข้างสูง
  • เลือกให้รับกับใบหน้า โดยเลือกกรอบแว่นที่มีรูปทรงตรงข้ามกับรูปหน้า เช่น หน้ากลมควรเลือกกรอบที่ค่อนข้างเหลี่ยม หน้าแหลมควรเลือกกรอบที่ส่วนล่างกว้าง รูปหน้าสี่เหลี่ยมแนะนำให้เลือกกรอบค่อนข้างกลม
  • การเลือกกรอบแว่นสำหรับเด็ก ไม่ควรเลือกขนาดเล็กเกินไปเพราะเด็กโตเร็ว แต่ก็ไม่ควรให้ใหญ่เกินไปเพราะแว่นจะหลวมทำให้เด็กมองลอดแว่นได้ ควรเผื่อขนาดไว้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากสายตาในเด็กมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จึงมักมีการเปลี่ยนแว่นบ่อยกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว กรอบแว่นควรมีขาที่มีบานพับชนิดที่เป็นสปริงยืดหยุ่นได้ ทำให้เด็กถอดใส่ได้สะดวก มีสายรัดศีรษะให้แว่นอยู่กับที่หรือจะใช้เป็นแบบที่มีขายาวโค้งรัดไว้หลังใบหู แป้นจมูกทำด้วยซิลิโคนช่วยไม่ให้ลื่น ในเด็กที่โตและรู้เรื่องดีพอควรปล่อยให้เด็กเลือกแบบเองโดยมีผู้ปกครองคอยแนะนำ ทำให้เด็กพอใจกับกรอบแว่นที่เลือก เด็กจะชอบใส่แว่น

เลนส์แว่นตา

วัสดุที่ใช้ทำเลนส์ เลนส์แว่นตาทำได้จากวัสดุหลายชนิด เช่น

  • แก้ว มีคุณสมบัติใสกว่าพลาสติก ไม่เป็นรอยขีดข่วนง่ายแต่หนัก และแตกได้
  • พลาสติก เบากว่าแก้วไม่แตกง่าย แต่หนากว่าแก้วในขนาดสายตาที่เท่ากัน
  • ไฮอินเด็กซ์เลนส์ (High-index lenses) เป็นเลนส์แก้วหรือพลาสติกที่ทำให้มีค่าการหักเหของแสงสูงกว่าปกติ เลนส์จึงมีขนาดบางลงมากและเบา ทำให้ใส่สบายและดูสวยงามกว่าเลนส์หนาๆ
  • โพลีคาร์บอเนทเลนส์ (Polycarbonate lenses) ทำจากพลาสติกชนิดที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษทนทานไม่แตกง่ายมีความปลอดภัยสูง เหมาะสำหรับใช้ในเด็กและผู้ที่ปฏิบัติงานบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูง เช่น นักกีฬา เลนส์ชนิดนี้บางและเบากว่าเลนส์แก้วและเลนส์พลาสติกธรรมดา แต่เป็นรอยขีดข่วนง่ายถ้าไม่ดูแลให้ดีและราคาแพง
  • เลนส์เปลี่ยนสี (Photochromic lenses) สามารถเปลี่ยนสีได้เองเมื่อโดนแสง เมื่ออยู่ในที่ร่มเลนส์จะใส แต่เมื่ออยู่กลางแจ้งเลนส์จะมีสีเข้มทำหน้าที่เป็นแว่นกันแดดได้ ผลิตจากแก้วและพลาสติกประเภทไฮอินเด็กซ์ซึ่งมีน้ำหนักเบาและบาง

รูปแบบของเลนส์ ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปจะมีอาการตามัวเมื่อเวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า ต้องช่วยโดยการยืดแขนออกไปไกลๆ จึงจะเห็น เรียกว่าสายตาคนแก่หรือสายตายาวในผู้สูงอายุ เป็นสภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับคนในวัยนี้ ต้องแก้ไขโดยการใส่แว่นดูใกล้ส่วนเวลามองไกลไม่ต้องใช้แว่นนี้ ในผู้ที่ใส่แว่นมองไกลอยู่เดิมมาก่อนแล้ว เช่นมีสายตาสั้นอยู่แล้วก็ยังคงเป็นสายตาสั้นเหมือนเดิมเมื่อเวลามองไกล จึงต้องมีแว่นสองอันคอยใส่ๆ ถอดๆ ทำให้ไม่สะดวก ดังนั้นจึงมีเลนส์ประเภทต่างๆ ให้เลือกใช้ตามความต้องการ เช่น

  • เลนส์ชั้นเดียว (Single vision lenses) ใช้ในผู้ที่ยังไม่ต้องใช้แว่นต่างกันในการดูใกล้และดูไกล หรือในผู้ที่ต้องการแต่แว่นดูใกล้เป็นครั้งคราวไม่ได้ใส่ประจำ
  • เลนส์สองชั้น (Bifocal lenses) ใช้ดูได้สองระยะสำหรับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เลนส์ชั้นบนสำหรับดูไกล เลนส์ชั้นล่างสำหรับดูใกล้เช่นอ่านหนังสือ มีรอยต่อระหว่างชั้นทั้งสอง ผู้ที่ยังไม่เคยใส่แว่นชนิดนี้มาก่อนต้องหัดใช้ให้คุ้นเคยในช่วงแรก
  • โพรเกรสสีพเลนส์ (Progreesive lenses) เป็นเลนส์หลายชั้น ไม่มีรอยต่อส่วนบนของเลนส์ใช้ดูไกลส่วนกลางๆ ใช้ดูระยะกลางและส่วนล่างใช้ดูใกล้ไล่ลงมาเรื่อยๆ ผู้ที่ใส่แว่นชนิดนี้ในระยะแรกต้องใช้เวลาหัดให้คุ้นเคยก่อน มีบางคนที่ไม่สามารถหัดได้ ดังนั้นก่อนเลือกใช้เลนส์ชนิดนี้ต้องพิจารณาให้ดีเนื่องจากเลนส์มีราคาสูง

การเคลือบผิวเลนส์ (Lens coatings) ช่วยให้เลนส์มีคุณสมบัติดีขึ้น และผู้สวมใส่ดูสวยงามขึ้น การเคลือบผิวเลนส์มีหลายชนิด เช่น

  • เคลือบกันแสงสะท้อน ช่วยลดเงาสะท้อนและแสงที่แตกกระจายทำให้เลนส์ใสขึ้น จึงเห็นได้ชัดขึ้น ดูสวยงามขึ้น และเหมาะสำหรับป้องกันแสงแตกกระจายในเวลาขับรถกลางคืน ข้อเสียคือชั้นที่เคลือบไว้อาจหลุดลอกได้ถ้ามีการเช็ดล้างทำความสะอาดบ่อย
  • เคลือบผิวกันรอยขีดข่วน หรือเรียกว่าเคลือบแข็งใช้ป้องกันรอยขีดข่วนที่ผิวของเลนส์พลาสติก ปัจจุบันมักมีการเคลือบมาเรียบร้อยแล้วจากผู้ผลิต
  • เคลือบกันแสงยูวี ช่วยป้องกันแสงอุลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์มิให้ผ่านเข้าตา ซึ่งแสงนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาต่างๆ ได้ในระยะยาว เช่น ต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม จอตาเสื่อม เป็นต้น เลนส์บางชนิดเคลือบกันแสงยูวีมาแล้วจากโรงงานผู้ผลิตจึงไม่จำเป็นต้องเคลือบอีก

การเลือกใช้แว่นตากันแดด

แว่นกันแดดช่วยป้องกันแสงอุลตราไวโอเล็ต และรังสีต่างๆ จากดวงอาทิตย์ ช่วยลดอาการแพ้ในผู้ที่แพ้แสงแดด ลม ฝุ่นละออง มลพิษ และช่วยให้สบายตาขึ้น การเลือกใช้แว่นกันแดดควรเลือกที่ป้องกันแสงอุลตราไวโอเล็ตได้ 99 – 100% โดยดูจากฉลากที่ติดไว้หรือใช้เครื่องวัดซึ่งมีอยู่ตามร้านจำหน่ายแว่นตาทั่วไป

สีของเลนส์แว่นกันแดดควรเข้มปานกลาง เพียงพอที่จะลดแสงได้ แต่ต้องไม่มืดจนมองไม่ถนัดหรือจนไม่สามารถแยกสีไฟสัญญาณจราจรได้ สีเลนส์ที่แนะนำได้แก่ สีเทา สีอำพัน สีน้ำตาล และสีเขียว เลนส์สีเข้มไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันแสงอุลตราไวโอเล็ตได้ดีกว่าเลนส์สีอ่อน

การดูแลแว่นตา

เมื่อท่านเลือกได้แว่นตาที่เหมาะสมกับความต้องการทำให้มองเห็นได้ชัดเจนและใส่สบายแล้ว แต่ถ้าปล่อยให้เลนส์สกปรกเต็มไปด้วยรอยขีดข่วน กรอบบิดเบี้ยว ขาแว่นหลวม แว่นตาอันนั้นก็คงไม่ทำให้เกิดประโยชน์เต็มที่ การดูแลรักษาแว่นตาให้อยู่ในสภาพที่ดีเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติสม่ำเสมอ ดังนี้

  • ล้างทำความสะอาดแว่นตาเป็นประจำ โดยใช้น้ำและสบู่เพื่อขจัดคราบไขมันและสิ่งสกปรก แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่นุ่มและสะอาด
  • เก็บแว่นตาไว้ในกล่องเสมอ เวลาที่ไม่ได้ใช้แว่น
  • อย่าวางด้านผิวหน้าของเลนส์แว่นตาให้สัมผัสกับพื้น หรือ สิ่งต่างๆ
  • ใส่และถอดแว่นตาให้ถูกวิธี
  • ถ้าขาแว่นหลวม หรือบิดเบี้ยว ควรนำไปให้ช่างแว่นดัดให้เข้าที่ เด็กที่ใส่แว่นมักพบว่ามีปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนื่องจากเด็กยังไม่รู้จักระมัดระวัง เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องคอยดูแลและแก้ไข ถ้าแว่นตาของท่านอยู่ในสภาพดี แต่ใส่แล้วเห็นไม่ชัดเท่าที่ควรท่านควรได้รับการวัดแว่นใหม่ หรือรับการตรวจตาเพื่อหาสาเหตุ

 

ขอบคุณที่มาจาก : ฝ่ายจักษุวิทยา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 2850
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์