กล่าวเฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ นั้น มีบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และหน้าที่อื่น ๆ เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่
จ่ายหลายกรณี จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นลำดับไป
หน้าที่เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ของผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าว โดยสังเขปมีดังนี้
1. หน้าที่ในการคำนวณหักภาษีเงิน ได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528
กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ณ ที่จ่าย โดยเฉพาะผู้รับประกอบกิจการในประเทศไทย ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 และสำหรับผู้รับที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
2. หน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับผู้รับที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือหลักฐานอื่นเพื่อแสดงว่าได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย สำหรับผู้รับที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะใช้แบบหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากมีความสะดวกและเป็นที่ยอมรับเป็นการทั่วไปแล้ว
3. หน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งยื่นแบบแสดงรายการตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ดังนี้
สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้ใช้แบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 และ ภ.ง.ด.3
สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ให้ใช้แบบ ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54
4. เฉพาะกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นรายการสรุปการจ่ายเงินได้และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ได้แก่ ภ.ง.ด.1ก, ภ.ง.ด.1ก พิเศษ ภ.ง.ด.2ก และ ภ.ง.ด.3ก ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
5. หน้าที่จัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษี ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในปัจจุบัน การปฏิบัติทางบัญชีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ใช้โปรแกรมบัญชีจัดทำบัญชีได้มีการบันทึกการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งไว้ถูกต้องแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหาที่ต้องจัดทำบัญชีพิเศษดังกล่าวนี้ซ้ำอีก
6. หน้าที่ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อาทิ ความร่วมมือในการตรวจสอบการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การแจ้งข้อความเกี่ยวกับการจ่ายเงินได้ให้แก่คนต่างด้าว
การปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ รวมทั้งหน้าที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้เสียภาษีอากร และผู้นำส่งภาษีอากร ที่ต้องกระทำให้ถูกต้องครบถ้วนก็จะช่วยให้ลดทอนปัญหาทางภาษีอากรทั้งหลายลงได้อย่างสิ้นเชิง.