วิกฤติการออม วิกฤติ! ผู้สูงวัย

วิกฤติการออม วิกฤติ! ผู้สูงวัย

ปรากฏการณ์ “ผู้สูงอายุ”...จำนวนมากสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (3) ในขณะที่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องคิดไปไกลอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้าง “ระบบการออม” เพื่อการชราภาพให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย

นั่นคือบันไดขั้นแรกของการสร้าง “ระบบบำนาญแห่งชาติ”... ผลักดันให้ประเทศไทยมี “กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)” อย่างเป็นรูปธรรม

บันทึกเอกสารรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้รายงานต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2557ที่ผ่านมา มีประเด็นน่าสนใจ คือโครงสร้างคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานคนที่ 1...กรรมการภาครัฐ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ รวมอยู่ด้วย

ตามรายงานบันทึกไว้ชัดเจนว่า เนื่องจาก “ระบบสวัสดิการ” และ “ระบบการออมเพื่อการเกษียณ” มีความแตกต่างกันและควรแยกออกจากกัน

ซึ่งก็หมายความว่า...การจัดสวัสดิการเป็นภาระผูกพันระยะสั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการดำรงชีวิตขณะที่อยู่ในวัยทำงาน ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และตาย ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ในขณะที่การออมเพื่อการเกษียณเป็นภาระผูกพันระยะยาว และกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารการเงิน การคลัง และรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ

นอกจากนี้ กองทุนการออมเพื่อการเกษียณควรอยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลเดียวกัน เพื่อให้เกิดเอกภาพในเชิงนโยบายและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลในภาพรวม

โดยในรายงานฉบับนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ มีความเห็นว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ในบาง มาตรา...เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้สมาชิกได้รับไม่น้อยกว่าความคุ้มครองภายใต้กองทุนประกันสังคม และออกกฎกระทรวงเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานของ กอช. รวมถึงแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม...

เพื่อยกเลิกความคุ้มครองกรณีบำนาญ สำหรับแรงงานนอกระบบ และโอนผู้ประกันตนในกรณีดังกล่าวมาที่ กอช. ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

ขณะนี้...อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีสัญญาณความคืบหน้าและมีความชัดเจนใดๆเกิดขึ้น คำถามมีว่า...

กองทุนในการดูแลเงินของผู้สูงอายุมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน?

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รองเลขามูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) อธิบายว่า ความแตกต่างระหว่างการเข้าเป็นสมาชิกประกันตนตามมาตรา 40 และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในแง่การมองระบบบำนาญแห่งชาติเป็นเป้าหมายมีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่มาก

กฎหมายประกันสังคมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น “ระบบสวัสดิการ” แก่ “ลูกจ้าง”

อันได้แก่ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง แต่ไม่รวมลูกจ้างทำงานบ้าน หรือ “แรงงานในระบบ” อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ประกันตน...ในกรณีที่ลูกจ้างนั้นประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายจากเหตุอื่นนอกจากการทำงาน รวมทั้งกรณีว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ

แต่กฎหมาย กอช. นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มี “ระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ” ที่ “ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม” โดยเฉพาะประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับความคุ้มครอง “เพื่อการชราภาพ” อย่างทั่วถึง

พญ.ลัดดา ย้ำว่า กอช. จึงเป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างระบบบำนาญแห่งชาติสำหรับประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ขณะที่กฎหมายประกันสังคมมุ่งให้สวัสดิการแก่แรงงานในระบบเป็นหลัก เพียงแต่ต่อมาส่วนหนึ่งได้ขยายไปถึงกรณีแรงงานนอกระบบในวัยชราด้วยเท่านั้น

การขยายเวลาการสมัครเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 (3) ไม่ได้ช่วยสร้างระบบบำนาญแห่งชาติขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ผู้สมัครได้รับสวัสดิการในวัยชราเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งเท่านั้น...อีกทั้งเงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่มากนัก เพราะเงินที่ส่งเข้ากองทุน สปส. ต้องนำไปใช้เพื่อการสร้างเป็นระบบสวัสดิการแก่สมาชิกผู้นั้นหลายกรณีด้วยกัน

แต่...การออมเพื่อการชราภาพตามกฎหมาย กอช. เป็นการออมเพื่อนำเงินที่ออม “ทั้งหมด” มาแบ่งจ่ายเป็นบำนาญแก่ผู้นั้นในวัยชราเพียงอย่างเดียว ดังนั้นในระยะเวลาส่งเงินเข้ากองทุนเท่ากัน สมาชิก กอช.จะได้บำนาญชราภาพมากกว่าเงินสวัสดิการในวัยชราภาพของ สปส. ที่จ่ายให้เป็นรายเดือน

นอกจากนี้ การมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการชราภาพของ สปส. ที่เรียกว่า...บำนาญชราภาพเหมือนกับ กอช.นั้น สมาชิกต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 420 เดือน หรือ 35 ปี หรือได้จ่ายเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ต้องจ่ายตลอดระยะเวลาดังกล่าวแล้วเท่านั้น

หากเสียชีวิตก่อนที่จะจ่ายเงินสมทบครบ 35 ปี หรือยังจ่ายไม่ครบจำนวนเงินสมทบที่ต้องจ่ายตลอดระยะเวลาดังกล่าว สปส.จะจ่ายเป็นบำเหน็จชราภาพให้แก่ทายาทพร้อมค่าทำศพเท่านั้น

คนชราที่มีอายุเกิน 60 ปีที่เพิ่งสมัครเป็นสมาชิกกองทุน สปส. ตามมาตรา 40 จึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญเมื่ออายุประมาณ 95 ปี ก็คืออายุ 60 ปีบวกไปอีก 35 ปี...แต่หากเสียชีวิตก่อน ทายาทจะได้รับบำเหน็จชราภาพพร้อมค่าทำศพ แตกต่างกับสมาชิก กอช. ที่จะมีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพทันทีที่อายุครบ 60 ปี

ที่ต้องเน้นย้ำ...หากประชาชนแต่ละคนไม่มีการออมเพื่อการชราภาพรัฐก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วการช่วยเหลือผู้สูงอายุจึงต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และมีแนวโน้มที่จะต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ...ขณะที่แหล่งรายได้ของรัฐมีจำกัดลง

“สังคมผู้สูงอายุ”...แรงงานในระบบจะเริ่มลดลง ขณะที่มีแรงงานพ้นวัยทำงานมากขึ้น ประเมินได้ว่า เงินสมทบที่จะส่งเข้ากองทุนประกันสังคมก็จะลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับรายจ่ายเพื่อระบบสวัสดิการแรงงานที่พ้นวัยทำงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้...ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมจะมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อระบบสวัสดิการได้อีกต่อไป

เมื่อถึงวันนั้น...ทั้งที่มีรายจ่ายมากมายอยู่แล้ว รัฐคงหนีไม่พ้นที่จะต้องแบกรับภาระเพื่อนำมาดูแลในส่วนนี้มากขึ้น ประเทศชาติต้องพัฒนา เดินหน้า...ไม่วางแผนเสียแต่วันนี้เราจะเติบโตได้ยาก.

 669
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์