บริหารวันลาพักร้อนอย่างไรไม่ให้เสียงาน

บริหารวันลาพักร้อนอย่างไรไม่ให้เสียงาน

คงไม่มีคนทำงานคนไหนที่อยากทำงานเพื่อจะได้ทำงานตลอดทั้งปี ต้องมีการลาหยุดพักผ่อนกันบ้าง ชีวิตการทำงานจึงจะมีความสุข รูปแบบการทำงานของหลาย ๆ คนอาจจะดูเคร่งเครียด และเต็มไปด้วยความกดดัน เพราะเขาไม่สามารถหาวันลาพักร้อนให้กับตัวเองได้

          หนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้คนทำงานไม่กล้าขอลาพักร้อน คือ ความรู้สึกเกรงใจเพื่อนร่วมงาน หรือกลัวว่าจะถูกเจ้านายเพ่งเล็งหากลาหยุดมากเกินไป แต่การลาพักร้อนไม่ใช่ความผิด เป็นสิทธิของคนทำงานที่สามารถทำได้ ตราบเท่าที่เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้านาย หรือทิ้งงานกองโตไว้ให้เพื่อนร่วมงานทำต่อ

          ก่อนที่เราจะลาพักร้อนทุกครั้ง เราต้องมั่นใจว่าเราได้บริหารงาน และเวลาทำงานไว้เป็นอย่างดีแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องไม่มีใครบ่นตามหลังเราไปว่าทิ้งงานไว้ให้คนอื่น แล้วไปเที่ยวสนุกอยู่คนเดียว หากต้องการให้วันหยุดพักผ่อนของเรา เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง อย่าลืมที่จะวางแผนให้ดีเสียก่อน โดยลองทำตามเคล็ดลับดังต่อไปนี้

วางแผนการลาระยะยาว

          ส่วนใหญ่แล้วการลาพักร้อน คือ การลาหยุดพักผ่อนประจำปี เราจะมีเวลาในการวางแผนระยะยาว ไม่ใช่การลาแบบปุบปับที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็ดูจะไม่เป็นธรรมสำหรับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เท่าไรนัก เราควรวางแผนล่วงหน้า และแจ้งให้เพื่อนร่วมทีมรับทราบ เพื่อที่เขาจะได้เตรียมตัวมารับงานต่อจากเราได้ ในขณะเดียวกัน งานของเขาก็จะไม่เสียหายด้วย เพราะได้วางแผนการทำงานเพื่อรองรับการลาหยุดของเราแล้ว ก่อนที่จะลาพักร้อนทุกครั้ง เราจึงควรบริหารวันลาพักร้อนของเราให้ดี

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลา

          แม้ว่าการลาพักร้อนจะเป็นสิทธิของพนักงานทุกคน แต่ก่อนที่จะลา เราอาจจะต้องดูความเป็นไปได้ ว่าการขอลาพักร้อนของเรานั้นเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งพิจารณาจากภาวะของงานในช่วงนั้น ดูว่างานในช่วงนั้นยุ่งมากขนาดไหน เป็นช่วงที่วุ่นวายที่สุดของปีหรือไม่ จำนวนเพื่อนร่วมงานเพียงพอที่จะมาช่วยทำงานต่อจากเราหรือไม่ หากเราลาพักร้อนในช่วงที่วุ่นวายมากที่สุด เราก็ต้องคิดถึงใจเขาใจเราด้วย เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเลื่อนวันลาไปเป็นช่วงเวลาอื่น แล้วช่วยเพื่อนร่วมงานทำงานให้ผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปก่อน จากนั้น จึงค่อยลาพักร้อนอย่างที่ตั้งใจไว้ การทำงานเป็นทีมจำเป็นต้องเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กร

เคลียร์งานให้เรียบร้อยก่อนลา

          เมื่อเราได้แจ้งกับหัวหน้าแล้วว่าเราจะลาพักร้อน สิ่งที่เราควรทำ คือ การสะสางงานให้เรียบร้อย อย่าให้มีงานค้างหรืออยู่ อาจจะเป็นเรื่องที่ยากและค่อนข้างกดดัน บางครั้งเราตั้งความหวังไว้แล้วว่าเราจะทำให้ได้ แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ เวลาที่ค่อนข้างเร่งรัดทำให้เราไม่สามารถเคลียร์งานได้ทันตามกำหนด แต่เราต้องมั่นใจว่างานที่เราทิ้งไว้ให้เพื่อนร่วมงานนั้น ไม่ได้เป็นภาระอันหนักหนาสำหรับเขา คนที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานต่อจากเราต้องไม่ประสบปัญหาในการทำงาน หากเป็นไปได้ ให้คุยรายละเอียดในการทำงานให้ดีเสียก่อน แนะนำเทคนิค หรือสิ่งที่เขาควรรู้ไว้อย่างละเอียด เพียงเท่านี้ เราก็จะลาพักร้อนได้อย่างสบายใจ

เพิ่มทางเลือกในการติดต่อ

บริหารวันลาพักร้อน          แน่นอนว่าการลาพักร้อนเป็นช่วงเวลาที่เราทุกคนต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง โดยไม่คิดเรื่องงานอีก แต่สิ่งไม่คาดฝันมักเกิดขึ้นได้เสมอ หากเพื่อนร่วมงานต้องการติดต่อเราในช่วงเวลานั้น เขาจะติดต่อเราได้อย่างไรบ้าง เราจึงควรเพิ่มทางเลือกในการติดต่อเขาในยามจำเป็น แต่ส่วนใหญ่เพื่อนร่วมงานของเรา จะเข้าใจมารยาทของการพักร้อนเป็นอย่างดี จึงมักไม่มีการติดต่อสื่อสารกันในช่วงเวลานี้ แต่เราก็ควรเสนอทางเลือก เช่น การตอบ Email หรือรับโทรศัพท์ หากต้องการความช่วยเหลือในช่วงเวลานั้น แต่หากเราวางแผนการทำงานไว้เป็นอย่างดีแล้ว เชื่อได้เลยว่าจะไม่มีใครติดต่อเราในช่วงเวลานั้นอย่างแน่นอน

          การลาพักร้อนเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดที่จะขอลาหยุด แต่ต้องทำอย่างมีขั้นตอน และถูกต้อง โดยไม่สร้างความเดือนร้อนให้กับคนอื่น หรือส่งผลกระทบต่อการทำงาน เพราะไม่เช่นนั้น ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องได้ยินเสียงนินทา หรือเสียงบ่นจากเพื่อนร่วมงาน หากเขาต้องมารับภาระที่ไม่มีการเตรียมการไว้ก่อน

 2354
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์