อย. อึ้ง สำรวจเจออาหารกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าค่าที่กำหนดถึง 3 เท่า วอนประชาชนเลี่ยงการบริโภค เพราะเสี่ยงสารพัดโรค
วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษาหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้มีการสำรวจและเก็บตัวอย่างมาจากอาหารสำเร็จรูปในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 9 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556-กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อสำรวจการกล่าวอ้างทางโภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหารสำเร็จรูป 23 ประเภท จำนวน 5,853 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 3,052 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ 2,801 ผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่ามีการแสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการจำนวน 3,230 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งร้อยละ 58.7 มีปริมาณโซเดียมที่แสดงบนฉลากโภชนาการอยู่ในช่วง 0-100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค โดยพบในกลุ่มขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์มากที่สุด ขณะที่กลุ่มขนมขบเคี้ยว ร้อยละ 48.6 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 100 มิลลิกรัม
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากเกินกว่าที่กำหนด ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปรุงรสทรงเครื่อง รสบาร์บีคิว และรสพิซซ่า ส่วนกลุ่มเครื่องดื่ม ร้อยละ 19.3 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 100 มิลลิกรัม และกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 83.2 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 600 มิลลิกรัม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำ มีปริมาณโซเดียม 2,220 มิลลิกรัมหรือ 55 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค สูงกว่าค่าแนะนำถึง 3 เท่า โดยคำแนะนำของนักโภชนาการเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในอาหารนั้น ควรจะมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 600 และ 100 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ นายอารยะยังกล่าวอีกว่า จากการสำรวจนี้เป็นฐานข้อมูลระดับประเทศที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มสามารถนำไปใช้ในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การปรับลดความเค็มในอาหารได้ ซึ่งตนคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ อย. จะออกประกาศเรื่องกลุ่มอาหารที่มีความเค็มสูงเพิ่มเติม โดยเพิ่มในส่วนของกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกลุ่มขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้ จะมีการนำข้อมูลปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นอีกด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการซื้อมีปริมาณโซเดียมเท่าไร จะได้ใช้ในการประกอบการตัดสินใจซื้อ
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาตรฐานการบริโภคเกลืออยู่ที่ไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน และน้ำตาลไม่เกิน 10 กิโลกรัมต่อปี แต่ล่าสุดจากการสำรวจพบว่าคนไทยมีการบริโภคเกลือสูงกว่ามาตรฐานโลกถึง 3 เท่า นอกจากนี้ อย. ยังมีความห่วงใยในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงจะทำให้เกิดการสะสมของเกลือและน้ำในอวัยวะต่าง ๆ เป็นเหตุทำให้แขนขาบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง รวมทั้งเกิดผลเสียต่อไต ทำให้ไตทำงานหนักขึ้นและเสื่อมเร็วขึ้น