กรณีเข้ารักษา ณ สถานพยาบาลที่ตกลงไว้
นายจ้างจะส่งผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาล ซึ่งกองทุนเงินทดแทนทำความตกลงไว้ โดยใช้แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) ในกรณีนี้นายจ้างและลูกจ้างไม่ต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สถานพยาบาลนั้น ๆ จะเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง แต่นายจ้างต้องนำส่ง กท.16 และสำเนา กท.44 ก่อน
กรณีเข้ารักษา ณ สถานพยาบาลทั่วไป
นายจ้างจะส่งลูกจ้างผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลใด ๆ ก็ได้ ทั้งของเอกชนและของรัฐบาล แต่ทั้งนี้ต้องเป็นสถานพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายให้ทำการรักษา และลงชื่อรับรองในใบความเห็นของแพทย์ การส่งลูกจ้างไปรับการรักษา ณ สถานพยาบาลดังกล่าวนี้ นายจ้างหรือลูกจ้างจะต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วนำไปเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐานขอเบิกเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้
การแจ้งการประสบอันตรายทำได้ดังนี้
1. นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจแจ้งตามแบบ กท. 16 โดยยื่นเรื่อง ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา หรือส่งทางไปรษณีย์
2. การแจ้งการประสบอันตราย นายจ้างและลูกจ้างต้องแสดงเอกสารหลักฐานการปฏิบัติงานประกอบการพิจารณา เช่น ใบรับรองแพทย์และประวัติการรักษาพยาบาล รวมทั้งให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่วินิจฉัยเรื่องได้รวดเร็ว
กรณีนายจ้างหรือลูกจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนให้นำใบเสร็จรับเงินมาเบิกคืนได้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่จ่าย แต่ถ้าทำการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับกองทุนเงินทดแทน สถานพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บเงินจากกองทุนเงินทดแทน โดยตรงและขอให้นายจ้างตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกครั้ง ที่ส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล ซึ่งการจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะจ่ายตามราคาประกาศของสถานพยาบาลที่ประกาศให้นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไปทราบ ทั้งนี้ไม่เกินจากที่กฏกระทรวงกำหนด
|