ทำอย่างไร? เมื่อต้องประเมินผลงานของเพื่อนร่วมงาน

ทำอย่างไร? เมื่อต้องประเมินผลงานของเพื่อนร่วมงาน

 

หลายคนเกิดคำถามกับตัวเองว่า ต้องทำอย่างไร? เมื่อต้องประเมินผลงานของเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนร่วมงานคนนั้นเป็นเพื่อนสนิทของเราด้วยแล้ว คงเป็นความลำบากใจไม่น้อย ที่เราต้องมาทำหน้าที่นั้น แต่เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น เราจึงไม่ควรปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ เพราะถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานคนนั้น ได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

          โอกาสที่เราจะได้ประเมินเพื่อนร่วมงานไม่ได้มีบ่อย หากเราไม่ได้เป็นคนที่หัวหน้าไว้วางใจ ก็คงจะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งนี้ หรืออีกกรณีหนึ่งที่ทำให้เราประเมินผลงานของเพื่อนร่วมงานได้นั้น คือ เมื่อบริษัทใช้ระบบการประเมินผลงานพนักงานแบบ 360 เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ที่ทำงานร่วมกันได้ประเมินผลงานของกันและกัน

          การประเมินผลงานแบบ 360 คือ การที่เราจะได้มีโอกาสประเมินเพื่อนร่วมงานแบบรอบด้าน โดยเริ่มต้นจากตัวเราก่อน จากนั้นเป็น หัวหน้าที่สั่งงานเรา ลูกน้องที่เราสั่งงาน เพื่อนร่วมงานที่เราทำงานด้วย และบุคคลอื่นที่อาจจะต้องเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรา ข้อดีของการประเมินผลงานแบบนี้ จะทำให้เราได้รู้ข้อดี ข้อเสียของตัวเองจากทุก ๆ คน ไม่ได้เป็นความเห็นจากคนใดคนหนึ่ง

          การที่เราต้องมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานของเพื่อนร่วมงาน ค่อนข้างลำบากใจไม่น้อย แต่หากเราปฏิเสธไม่ได้ เราจะต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้ความกังวลใจเหล่านั้นหายไป

พูดความจริงเสมอ

          การพูดความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย และมันใช้ได้เสมอ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจในการออกความเห็น เราควรพูดความจริงตามความเป็นจริงเสมอ ไม่ควรบิดเบือน หรือเสแสร้ง หรือปั้นแต่งข้อความ เพราะอาจจะทำให้เพื่อนร่วมงานของเราถูกเข้าใจผิด หรือถูกประเมินผลงานอย่างไม่เป็นธรรมได้ หากเพื่อนทำงานผิดพลาดบ่อย ก็ควรพูดออกไปตามตรง ไม่ควรรู้สึกเกรงใจที่เขาเป็นเพื่อนของเรา เพราะจะทำให้เพื่อนร่วมงานไม่มีโอกาสได้ปรับปรุงตัวเอง จนกลายเป็นปัญหาในการทำงานต่อไป

ชี้ให้เห็นข้อดีของการทำงาน

          แน่นอนว่าไม่มีใครทำงานผิดพลาดเพียงอย่างเดียว เพื่อนร่วมงานของเราเองก็เช่นกัน เราไม่ควรลืมกล่าวถึงข้อดีของเขาด้วย หรืออาจจะกล่าวถึงความประทับใจที่ได้ทำงานร่วมกัน ว่ามีมากน้อยเพียงใด และการทำงานร่วมกับเพื่อนคนนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขนาดไหน แต่ก็ไม่ควรพูดยกยอจนเกินเหตุ จนดูเหมือนว่าเราเข้าข้างเพื่อนร่วมงานคนนั้นจนมากเกินไป อาจจะทำให้ผู้ประเมินเกิดความสงสัยถึงข้อมูลที่เราให้ไปได้

ลบอคติที่เคยมี

          แม้ว่าเพื่อนร่วมงานคนนั้นจะเป็นคนที่เราอาจจะไม่ได้ชอบหน้าเท่าไหร่นัก แต่เราก็ไม่ควรนำเอาอคติ มาใช้ในการประเมินผลงานในครั้งนี้ด้วย เพราะดูไม่เป็นธรรมที่เขาจะต้องได้รับการประเมินที่ไม่ดี เพียงเพราะเราไม่ชอบหน้าเขา แต่ให้ถือโอกาสนี้ แนะนำไปในการประเมินผลงานของเขาว่า อาจจะมีอะไรบางอย่างที่เขาควรจะปรับปรุงตนเอง เพื่อให้การทำงานดีขึ้น แทนที่จะกล่าวถึงจุดบกพร่องของเขาที่เราไม่ชอบเพียงอย่างเดียว ให้นึกถึงใจเขาใจเรา เพราะคงไม่มีใครอยากถูกประเมินผลงานที่แฝงไปด้วยอคติเช่นกัน

เราจะได้อะไรจากการประเมิน

          บางครั้งเราต้องคิดประกอบกันไปด้วยว่า เราทำการประเมินผลงานของเพื่อนเพราะอะไร? ทั้งเราและเขาจะได้อะไรจากการประเมินในครั้งนี้? สิ่งหนึ่งที่เราจะได้จากการประเมินในครั้งนี้ คือ เราจะได้เพื่อนร่วมงานที่ทำงานดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่สร้างปัญหาในการทำงานอีกต่อไป หากเขาเป็นคนที่มักจะสร้างปัญหาเสมอ ๆ หรือเป็นคนที่เข้ากับใครไม่ได้ในบางครั้ง การที่เขาจะได้รับฟังความคิดเห็นของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เขาปรับปรุงตัวเองในการทำงานได้ดีขึ้นได้ แล้วสิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้น การทำงานที่สอดคล้องกันมากขึ้น

แสดงความจริงใจ

          เพื่อนร่วมงานที่เปิดใจกว้าง จะเข้าใจถึงเหตุผลของการแสดงความคิดเห็นของเรา ว่าสิ่งที่เราพูดหรือเขียนออกไปนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่ให้ร้าย หรือไม่ชอบใจแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการปรับปรุงตัวนั่นเอง แต่หากเป็นเพื่อนร่วมงานที่เราอาจจะไม่ได้สนิทมากนัก เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกับเขาสักเล็กน้อยว่า เจตนาที่แท้จริงของเรานั้นเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เขาเกิดความเข้าใจผิดต่อการประเมินผลงานที่เราได้ให้ความร่วมมือไป

          บางครั้งเราก็อาจจะหลีกเลี่ยงที่เราไม่อยากจะทำได้ แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยเหตุและผล หากเราทำด้วยความเต็มใจแล้ว ปัญหาใด ๆ ก็ไม่น่าจะตามมา การประเมินผลงานของเพื่อนร่วมงานก็เช่นเดียวกัน อาจจะมีความลำบากใจบ้างในช่วงแรก แต่หากเราทุกอย่างด้วยความจริงใจแล้ว มั่นใจได้เลยว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน

 1589
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์