5 คำถามที่ควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจลาออก

5 คำถามที่ควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจลาออก

                      ในขณะที่ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมเราถึงรู้สึกไม่สนุกกับการทำงาน เหมือนการทำงานในวันแรก เราก็ได้เลือกการลาออกเป็นทางออกสุดท้ายเสียแล้ว แต่ถ้าหากคิดให้ดี การตัดสินใจเช่นนี้ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป เพราะงานในปัจจุบันค่อนข้างหายาก และแข่งขันกันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประสบการณ์และความสามารถในการทำงาน อีกทั้ง ยังต้องอาศัยจังหวะเพื่อให้ได้งานที่ดี และตรงใจเราด้วยเช่นกัน หากตัดสินใจแบบเร่งด่วน งานดี ๆ ที่เราต้องการก็อาจจะไม่เป็นของเราก็เป็นได้

        การตัดสินใจลาออกไม่ได้หมายความว่าโอกาสที่เราจะได้งานใหม่มีน้อยลง  หรือสู้คนอื่น ๆ ไม่ได้ แต่ประสบการณ์และความผูกพันต่างหากที่ทดแทนกันไม่ได้ เพราะการต้องเริ่มต้นทำงานที่ใหม่ อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานอีกอย่างหนึ่งก็ได้

        ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจที่จะลาออก เราควรต้องคิดให้หนัก และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะหากตัดสินใจผิดพลาดแล้ว เราอาจจะย้อนกลับมาแก้ไขได้ยาก โดยให้ลองตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองก่อน เพื่อให้ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราควรจะลาออกจากงานหรือไม่

  1. หรือเป็นเพราะความไม่พอใจ  จริงหรือไม่ที่เรารู้สึกไม่พอใจอะไรบางอย่างในที่ทำงาน เช่น เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือบริษัท จนทำให้เรารู้สึกไม่อยากจะทำงานที่นี่ต่อไป แต่นั่นมีเหตุผลเพียงพอแล้วหรือที่ทำให้เราต้องตัดสินใจลาออก สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะดูมีเหตุผลและทำให้เราไม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าจริง ๆ แล้วยังมีความสุขกับการทำงานอยู่ เรายังรักงานที่เราทำอยู่ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ตาม เราจะมองข้ามความไม่พอใจเหล่านั้นไปได้หรือไม่ หากเราสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ การลาออกคงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเราอีกต่อไป
  2. จัดสรรเวลาไม่ได้ เรารู้สึกว่าในแต่ละวันของการทำงาน เราทำงานยุ่งจนเกินไป จนไม่สามารถจัดสรรเวลาให้ลงตัวได้ ไม่สามารถแบ่งเวลาให้ครอบครัว ให้วันพักผ่อนวันหยุด ตลอดเวลาเป็นเวลาของการทำงานไปเสียทั้งหมด แล้วในที่สุด ก็ตัดสินใจว่าจะลาออก เผื่อว่างานใหม่จะทำให้เราสามารถบริหารเวลาได้ดีกว่านี้ เพราะคิดเอาเองว่าเพื่อเริ่มต้นใหม่ อะไร ๆ ก็คงจะง่ายและดีขึ้นกว่าเดิม การเริ่มต้นใหม่เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การลาออกก็คงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะไม่มีสิ่งใดมารับประกันได้ว่า พอเราย้ายไปทำงานที่ใหม่ แล้วเราจะจัดการเรื่องเวลาได้ดีขึ้นกว่าเดิม
  3. ไม่มีโอกาสก้าวหน้า หากยังทำงานที่นี่ต่อไป ต่อให้ทำงานมากขนาดไหน เราก็ยังมองไม่เห็นโอากาสที่จะก้าวหน้า ไม่ได้เติบโตในหน้าที่การงานไปมากกว่าที่ทำอยู่ อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองหางานใหม่ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่การเปลี่ยนงานใหม่ในครั้งนี้ ก็ต้องรอบคอบให้มากกว่าเดิม เพื่อให้ได้งานที่เหมาะกับเราจริง ๆ ไม่ใช่เพียงเพราะรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ดีกว่าเดิมเท่านั้น เงินเดือนและตำแหน่งงานใหม่อาจจะเป็นสิ่งที่เร้าใจเรา แต่เราต้องวิเคราะห์ให้ดีเสียก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็อาจจะต้องมองหางานใหม่อีกครั้ง
  4. มีตำแหน่งงานที่ดีกว่ารออยู่ บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าชีวิตมักไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง เรามักจะเจองานที่ถูกใจเมื่อเราได้งานที่ดีอยู่แล้ว แต่เราจะตัดสินใจอย่างไร เมื่องานใหม่ที่เสนอมาก็ถูกใจ และเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำก่อนที่เราจะได้งานที่นี่ แต่งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็เป็นงานที่เราชอบมากเช่นกัน เมื่อมาถึงตอนนี้เราอาจจะต้องคิดให้มากขึ้นกว่าเดิมว่าจริง ๆ แล้ว เราอยากจะทำงานไหนมากกว่ากัน ความคุ้มค่าของการเปลี่ยนงานใหม่มีมากขนาดไหน หากเราไม่ลาออก เราจะได้ประสบการณ์อะไรเพิ่มจากการทำงานที่เดิม
  5. เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ เราได้ตัดสินใจลาออก ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานที่ได้ไม่เท่าไร เราเคยรู้สึกว่านั่นคือการหนีปัญหา แต่ก็ดีกว่าต้องทนทำงานกับคนที่มีทัศนคติไม่ดี ความคิดแบบนั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังทิ้งโอกาส หรือหน้าที่การงานที่ดีไป แล้วเราก็ได้ตัดสินเพื่อนร่วมงานไปแล้วว่าเป็นคนไม่ดี ทั้ง ๆ ที่เพิ่งรู้จักกันเพียงไม่นาน หากเราจะลาออกด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้อาจไม่มีน้ำหนักมากพอ ให้เราเชื่อมั่นว่าเราจะทำงานได้ แม้ว่าเพื่อนร่วมงานจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม เพราะบางครั้งเขาก็ไม่ได้มีส่วนสำคัญในการทำงานของเรามากเท่าใดนัก

        ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก เราอาจจะต้องพิจารณาให้ดี และมีความรอบคอบมากขึ้น เพราะหากเราตัดสินใจผิดพลาด เราอาจต้องพลาดงานดี ๆ ไปอย่างง่ายดาย แต่หากได้คิดอย่างรอบคอบแล้ว การเปลี่ยนงานเพื่อไปทำงานที่ดีกว่าก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เราจะได้เติบโตขึ้นในหน้าที่การงานที่ดีขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การทบทวนให้รอบคอบก็เป็นการดีที่เราจะไม่ตัดสินใจผิดพลาด

 1056
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์