เขียนโดย ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์ วิทยากร นักเขียน และที่ปรึกษา
ความสำเร็จใครก็ต้องการ แต่ความสำเร็จจะรอพึ่งโชคชะตาหรือผู้อื่นคงไม่ได้ ตัวเราเองต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะไขว่คว้าความสำเร็จนั้นมาอยู่ในมือ ทองพันชั่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลไคเซ็น(KAIZEN) ยอดเยี่ยม ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจัดโดยวิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการวิศวอุตสาหการแห่งชาติ 2010 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในวันที่ 16-17 ธันวาคม 2553 ในหัวข้อ เทคนิควิศวกรรมอุตสาหการ เพี่อพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จากการที่ได้พิจารณาการนำเสนอจากทั้งหมด 26 ทีม ผมได้สังเกตเห็นพฤติกรรมที่เหมือนกันของสมาชิกในทุกกลุ่ม ซึ่งผมประทับใจ และคิดว่ามีประโยชน์กับผู้อ่าน ซึ่งสรุปพฤติกรรมหลักๆ ได้ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้
- พฤติกรรมที่ 1 เป็นคนช่างสังเกต โดยมักจะมองจุดเล็กจุดน้อย เพื่อนำมาปรับปรุงเสมอ ไม่ยอมปล่อยผ่าน แล้วนำมาเป็นหัวข้อเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง โดยคิดว่า ดีกว่านี้ได้ไหม? เร็วกว่านี้ได้ไหม? ประหยัดกว่านี้ได้ไหม? สะดวกกว่านี้ได้ไหม? ปลอดภัยกว่านี้ได้ไหม? มีของเสียน้อยกว่านี้ได้ไหม? เป็นต้น
แนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นคนช่างสังเกตุ
ฝึกฝนให้เป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงาน โดยควรหมั่นตรวจสอบเพื่อค้นหาจุดบกพร่อง จุดผิดปกติ หรือสิ่งที่น่าจะเกิดปัญหา หรือความสูญเปล่าต่าง รวมไปถึงจุดที่อาจจะทำให้เกิดอันตราย
- พฤติกรรมที่ 2 เป็นผู้ที่มีความตั้งใจ และไม่ย่อท้อ เมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรค ก็ไม่ย่อท้อ ทำแล้วทำอีก แก้ไขแล้ว แก้ไขอีก ไม่ประสบความสำเร็จไม่เลิก ปรับปรุงให้ดีขึ้น ๆ อยู่เสมอ ไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยคิดว่า
“วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวานนี้ และวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้”
แนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีความตั้งใจ และไม่ย่อท้อ เพื่อฝึกทำงานภายใต้ภาวะกดดัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และต้องมีวิน้ยไม่ทอดทิ้งก่อนที่จะดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จ
- พฤติกรรมที่ 3 ทำงานเป็นทีมเวอร์ค (TEAM) ด้วยความรัก และสามัคคี เพราะต้องช่วยกันเก็บข้อมูล ช่วยกันปรับปรุง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ โดยรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนๆในทีม ถ้าหากทะเลาะกัน รับรอง ไม่รุ่งแน่นอน ซึ่งนี่ละครับ ไม่เพียงแต่การดำเนินกิจกรรมไคเซ็นเท่านั้น กิจกรรมอื่นๆ ก็ต้องอาศัย ความรัก ความเข้าใจ และความสามัคคี ด้วยเช่นกันครับ
แนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่ทำงานเป็นทีมด้วยความรัก และสามัคคี
ต้องฝึกฝนตนเองให้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยไม่ยึดเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ทำงานแบบเป็นพี่ๆ น้องๆ ไม่ใช้อาอารมณ์ หรือนำเรื่องส่วตัวมาปนกับเรื่องงาน มีนำใจ พร้อมช่วยเหลือ และให้อภัยเสมอเมื่อเกิดข้อผิดพลาด แล้วพร้อมที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน
- พฤติกรรมที่ 4 ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอโดยสังเกตได้จากการที่แต่ละกลุ่มต้องไปค้นคว้า เพื่อค้นคิดหาวิธีการใหม่ๆ ตามหลักวิชาการต่างๆ หรือแม้แต่การลองผิด ลองถูก เพื่อมาปรับปรุง และพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ อีกด้วย
แนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ
อ่านให้มาก ฟังให้มาก จดให้มาก และคิดให้มาก และอุปกรณ์ง่ายๆที่ผมชอบใช้คือ การใช้สมุดบันทึกเล่มเล็กๆ (Note Book) พกใส่กระเป๋าเสื้อเสมอ เพื่อบันทึกสิ่งต่างๆที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ไอเดียดีๆ เด็ดๆ ที่ผ่านเข้ามาในสมอง ก็รีบบันทึกเอาไว้ทันที รับรองเรื่องดีๆ จะไม่มีตกหล่นอย่างแน่นอน
- พฤติกรรมที่ 5 มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่แต่ละกลุ่มมีการค้นคิด ประดิษฐ์ ลดลอง นำเครื่องมือ เครื่องจักร ทั้งคิดใหม่ และนำของเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมากๆครับ
แนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์
อันนี้แนะนำว่า ต้องอ่านหนังสือ หรือค้นหาข้อมูลทาง Internet ที่สร้างความคิดสร้างสรรค์ (Idea) หรือไปศึกษาการใช้ เช็คลีสท์ของออสบอนด์ เพื่อสร้าสิ่งใหม่ๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องกล้าคิด กล้าฝัน และกล้าจินตนาการ บนพื้นฐานของความจริงนะครับ
- พฤติกรรมที่ 6 มีความสามารถในการประสานงาน จะเห็นได้ว่าเกือบทุกเรื่องที่เราทำ เราทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ เราต้องอาศัยพึ่งพาอาศัยความรู้ และความช่วยเหลือจากผู้อื่นเสมอ ดังนั้นถ้าหากใครขาดศิลปะด้านนี้ แล้วละก็ การประสานงาน ก็จะเปลี่ยนะเป็นประสานงาทันทีโดยไม่ต้องสงสัย
แนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่ความสามารถในการประสานงาน
ควรเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักใช้คำพูดที่เหมาะสม (ประเภทพูดแบบ มะนาวไม่มีน้ำ อย่าทำเด็ดขาด) เช่นควรใช้ประโยคขอร้อง มากกว่าประโยคคำสั่ง และที่สำคัญอีกประการคือ ต้องรู้จักกาลเทศะ ควรเลือกเวลาที่เหมาะสมสะดวกทั้งผู้ที่เราไปขอความช่วยเหลือจากเขา และตัวเราเองด้วย ถ้าหากเขายุ่งอยู่ละก็ อย่าไปกวนใจเขาเด็ดขาดเชียวครับ เดี๋ยวงานจะไม่เดิน
จากแนวคิด และการพัฒนาพฤติกรรมทั้ง 6 ที่ผมได้นำมาแลกเปลี่ยนนี้ ท่านผู้อ่านก็ลองนำไปปฏิบัติดู รับรองได้เลยครับว่าท่านจะประสบความสำเร็จเหมือนกับผู้ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันไคเซ็นนี้อย่างแน่นอน สุดท้ายขอฝากข้อคิดของ ริเชิร์ท เบิร์ด ที่ว่า “
ผู้พยายามทำอะไรบางอย่างแล้วล้มเหลวนั้น ดีว่าผู้ที่ไม่พยายามทำสิ่งใดเลยแล้วสำเร็จอย่างใหญ่หลวง”
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้ในการปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ตามหลักคิดของไคเซ็น
โชคดีทุกคนนะครับ