วันหยุดตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ทั้ง 3 ประเภทนี้มีวิธีคิดและการกำหนดอย่างไร

          มาพูดถึงวันหยุดประจำสัปดาห์กันก่อน กฎหมายกำหนดให้พนักงานทำงานติดต่อกันได้ไม่เกิน 6 วันในหนึ่งสัปดาห์ โดยปกติจะกำหนดเป็นวันเสาร์ – อาทิตย์ แต่สำหรับงานที่ไม่สามารถกำหนดวันหยุดที่แน่นอนได้ เช่น งานบริการ งานโรงแรมงานที่ต้องเข้าเป็นกะ งานขนส่ง หรือ งานขายต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเป็นประจำ ให้นายจ้างสามารถตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดวันใดในหนึ่งสัปดาห์ หรืออาจจะสมวันหยุดประจำสัปดาห์ ไปหยุดรวมกันทีเดียวก็ได้  

          สำหรับวันหยุดตามประเพณี พิจารณาจากวันหยุดราชการ วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันแรงงานแห่งชาติ วันวิสาขบูชา วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น หากวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้กำหนดวันถัดไปเป็นวันหยุดชดเชย

          เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบริษัทนั้นหยุดชดเชยยาวกว่าบริษัทของเรา แล้วทำไมบริษัทของเราไม่หยุด อย่างนี้บริษัทผิดหรือไม่ ตามกฎหมายแล้วบริษัทต้องกำหนดให้มีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อย 13 วันต่อปี บางบริษัทที่ยึดตัวเลข 13 วันเป็นเกณฑ์ อาจกำหนดวันหยุดชดเชยไม่ครบตามจริง เช่น วันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตรงกับวันสาร์-อาทิตย์ต้องชดเชย 2 วัน แต่กลับให้หยุดชดเชยเพียงวันเดียวก็ไม่ผิดอะไร ในขณะที่บางบริษัทให้หยุดยาวได้เต็มพิกัด ทำให้มีวันหยุดประจำปีรวมแล้ว 14 วันบ้าง 15 วันบ้างถือเป็นโชคดีของพนักงานบริษัทนั้นไป

          ส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปี กฎหมายกำหนดให้พนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้  ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน ไม่รวมวันหยุดประจำสัปดาห์ โดยนายจ้างสามารถกำหนดวันหยุดให้กับลูกจ้างได้ว่าจะให้หยุดวันไหน ซึ่งหากลูกจ้างไม่ใช้สิทธิหยุดตามวันหรือช่วงเวลาที่นายจ้างกำหนด ก็ถือว่าลูกจ้างสละสิทธิ ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้สิทธินั้น  แต่ถ้านายจ้างไม่ได้กำหนดวันหยุดไว้ให้ แล้วลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิ์ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้สิทธินั้น หรือนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันว่าให้สะสมวันหยุดใปใช้ในปีถัดไปได้ 

          เมื่อพนักงานทำงานครบ 1 ปีแล้ว พนักงานจะได้วันหยุดขั้นต่ำ 6 วันสำหรับปีที่ผ่านมา และอีกไม่น้อยกว่า 6 วันสำหรับปีที่สอง คิดตามปีปฏิทินหรือปีงบประมาณขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท แต่หากพนักงานยังทำงานไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างสามารถให้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้า โดยคิดวันหยุดตามสัดส่วนโดยไม่จำเป็นต้องรอครบ 1 ปีก็สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

          หากเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกเอง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม ตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับด้วย