ในประเทศไทยกองทุนเงินทดแทน นับเป็นก้าวแรกของการประกันสังคมไทย ที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน
ทั้งนี้กองทุนเงินทดแทน เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 ภายใต้การบริหารของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 โดยในปีแรกของ การให้ความคุ้มครอง จะครอบคลุมเฉพาะ สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไปที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายความคุ้มครองออกไปจนครบทุกจังหวัด ทั่วประเทศใน วันที่ 1 กรกฎาคม 2531
จวบจนกระทั่งได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 2 กันยายน 2533 เป็นต้นมา
ประเทศไทยจึงมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบ โดยลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ และตาย ทั้งนี้เนื่องและไม่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ
ลักษณะเครื่องหมายสำนักงานประกันสังคม
เป็นภาพอักษร 3 ตัวคือ สปส. มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ตั้งเรียงบนฐานในกรอบทรงรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านข้างซ้ายและขวามีเส้นตรง 3 เส้นลักษณะคล้ายเสาพุ่งขนานไปสู่จุดยอดของสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านล่างของฐานมีข้อความว่า " สำนักงานประกันสังคม " (Social Security Office)
ความหมาย
จากภาพเครื่องหมายราชการ ตัวอักษรเป็นชื่อย่อของสำนักงานประกันสังคมและที่เป็น ทรงสามเหลี่ยมแสดงออกถึงการร่วมมือร่วมใจและความรับผิดชอบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง สำหรับเส้นตรง 3 เส้นที่พุ่งขนานไปสู่จุดยอดของสามเหลี่ยมหน้าจั่วเปรียบเสมือนเสาหลัก 3 เสาที่มั่นคงของสำนักงานประกันสังคมและแสดงให้เห็นการผนึกกำลังช่วยเหลือเกื้อกูลกันพัฒนางานประกันสังคม ให้มีความเจริญรุ่งเรืองไปสู่จุดยอดอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สีน้ำเงินและสีทอง แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของสำนักงานประกันสังคม
|